Friday, March 11, 2016

หลังจากมีการรัฐประหาร เคยมีการคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนจริงๆ หรือไม่

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา หลังจากมีการรัฐประหาร เคยมีการคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนจริงๆ หรือไม่ 

รัฐประหารเท่าที่ผ่านมาในอดีต โดยเฉพาะก่อนปี 2516 รัฐประหารมันเป็นการสืบทอดอำนาจทุกครั้ง เพราะการรัฐประหารมันคือการเข้ามายึดอำนาจ ฉะนั้นรัฐประหารที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น รัฐประหาร 2490 ซึ่งครองอำนาจอยู่ถึง 10 ปี รัฐประหาร 2501 ก็พาพวกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร มีอำนาจไปอีก 16 ปี ฉะนั้นการที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจ และจะสืบทอดอำนาจมันเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก และเป็นเช่นนี้เสมอมา

จนกระทั่งหลัง 14 ตุลาคม 2516 การรัฐประหารเพื่อสร้างระบอบเผด็จการ แล้วสืบทอดอำนาจ มันเริ่มถูกต่อต้าน และมีแนวโน้มที่จะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คณะรัฐประหารปี 2534 ไม่ตั้งรัฐบาลเอง ต้องไปเชิญ อานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยทหารทำหน้าที่โอบอุ้มอยู่อีกที

รัฐประหารที่พยายามสืบทอดอำนาจแบบตรงๆ มันพังครั้งสุดท้ายในสมัยของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งมาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เขาตั้งใจจะอยู่ในอำนาจนาน 12 ปี แต่อยู่ได้ปีเดียวก็โดนรัฐประหารซ้อน โดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน แล้วตั้งพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยภายหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2521 เกรียงศักดิ์ ได้ขึ้นมาเป็นนายกจากการสนันสนุนของรัฐสภา อยู่ได้ 2 ปีกว่า ก็มีการเปลี่ยนอำนาจ การที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี จะพูดว่าเป็นมติของรัฐสภาก็ได้ จะพูดว่าเป็นยึดอำนาจซ้อนอีกครั้งก็ได้

แต่สิ่งที่เราเห็นคือ การสืบทอดอำนาจแบบตรงๆ มันหมดความชอบธรรม อย่างในยุคสุจินดา คราประยูร ก็พยายามที่จะสืบทอดอำนาจ แต่ก็ต้องมาด้วยกระบวนการรัฐสภา จนมาปีถึงปี 2549 เมื่อพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ทำรัฐประหารเห็นได้ชัดว่ารักษาอำนาจไว้สั้นมาก ต้องตั้งรัฐบาลซึ่งถ้าพูดแบบรวมๆ คือเป็นรัฐบาลคนนอกคือ ไปเชิญพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ มาเป็นนายกฯแทน และก็ต้องรีบดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีการเลือกตั้งภายใน 1 ปี

ถ้าถามว่ารัฐประหารเมื่อปี 2549 ตั้งใจจะสืบทอดอำนาจไหม ผมคิดว่ามันเปลี่ยนลักษณะไป เพราะทหารไม่ได้รัฐประหาร เพราะว่าต้องการจะสอบทอดอำนาจของทหารเอง แต่เป็นการรัฐประหารเพื่อชนชั้นนำ พูดง่ายๆ ว่าเป็นการโค่นทักษิณตามใจชนชั้นนำ เมื่อรัฐประหารแล้วก็ต้องเปิดฉากให้ชนชั้นนำเข้ามาจัดการ เซ็ตระบบใหม่ แล้วให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่คาดว่าฝ่ายทักษิณจะต้องเป็นฝ่ายแพ้ แต่ผลการเลือกตั้งมันกลับตาลปัตร

ทีนี้มาดูรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 หลังจากรัฐประหาร หัวหน้าคณะรัฐประหารก็มาเป็นนายกฯ และครองอำนาจในระยะเวลาที่นานกว่าที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประเทศไทยไม่ได้ก้าวหน้าอย่างที่คิด แต่คำถามคือ ทำไมประยุทธ์ ถึงมาได้ ทำไมการรัฐประหารครั้งนี้จึงเกิดขึ้นได้ เป็นเพราะทหารเข้มแข็ง และต้องการอำนาจเองหรือเปล่า พูดกันอย่างแฟร์ๆ นะ ผมคิดว่าไม่ ถ้าเราย้อนกลับไปในปี 2556-2557 เราจะเห็นความพยายามที่จะทำให้เกิดรัฐประหารหลายครั้ง และฝ่ายทหารพยายามอย่างมากที่จะไม่ทำรัฐประหาร ไม่ใช่พยายามทำ แต่ผมคิดว่าชนชั้นนำต่างหากที่สร้างสถานการณ์ และปูทางมาสู่การรัฐประหารของทหาร พร้อมทั้งยินยอมให้ทหารกุมอำนาจในลักษณะนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับ สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส อันนั้นทหารยึดอำนาจ สถาปนาอำนาจตัวเอง แต่อันนี้มันเกิดจากความเห็นพ้องของชนชั้นนำไทย

การปูทางสู่การรัฐประหารมันเริ่มจากการชุมนุมของ กปปส. จากนั้นกลไกรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ร่วมมือกันที่จะไม่ทำอะไร กปปส. ปล่อยให้เขาทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ จะปิดถนน จะยึดสถานที่ราชการ 5-6 เดือน จะอะไรก็แล้วแต่ทำได้หมด โดยที่ไม่มีใครเข้าไปจัดการ จากนั้นรัฐบาลถูกบีบให้ยุบสภา โดยพรรคประชาธิปัตย์ลาออกจากสภาทั้งพรรค รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ประกาศยุบสภา จากนั้นก็มีการใช้กระบวนการต่างๆ เพื่อทำลายการเลือกตั้ง ทำให้เลือกตั้งจัดขึ้นไม่ได้ กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ก็ไม่จัดการเลือกตั้ง ระหว่างรอการเลือกตั้งครบทุกเขต เป็นช่วงรัฐบาลรักษาการณ์ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินถอดถอนยิ่งลักษณ์ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุที่มีการโยกย้ายข้าราชการหนึ่งคน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่งี่เง่ามาก แต่ คสช. ย้ายข้าราชการเป็นร้อยก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร หลังจากปลดยิ่งลักษณ์แล้ว นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล มาเป็นรักษาการณ์นายกรัฐมนตรี รัฐบาลก็ไม่มีอำนาจอะไร ต้องรอการเลือกตั้งเสร็จสิ้น กกต. ขณะนั้นก็ไม่ยอมจัดการเลือกตั้ง กปปส. ก็สร้างความวุ่นวายโดยไม่มีใครทำอะไร

การแก้ปัญหาการเมืองจะแก้ได้อย่างไร ในนานาประเทศเขาแก้ด้วยการเลือกตั้ง แต่ในสังคมไทยชนชั้นนำช่วยกันทำให้การเลือกตั้งเป็นไปไม่ได้

ฉะนั้นสิ่งที่ปูทางมาทั้งหมด บอกชัดแล้วใช่ไหมว่า ครั้งนี้ไม่คืนอำนาจให้ประชาชนง่ายๆ

เอาเข้าจริงถามว่าฝ่ายทหารเองอยากคืนอำนาจไหม ผมคิดว่า คงอยากคืนอยู่ แต่ประเด็นสำคัญคือ พวกเขายังแก้โจทย์ไม่ตก คือยังนึกไม่ออกว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ฝ่ายทักษิณแพ้การเลือกตั้ง เขายังแก้โจทย์นี้ไม่ตก ที่เขาต้องเตะถ่วงแบ่งอำนาจออกมาส่วนหนึ่ง เพราะเขากลัวว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเปิดให้มีการเลือกตั้งตามขั้นตอนประชาธิปไตย ฝ่ายทักษิณชนะเลือกตั้งทันที และไม่ใช่แค่เขา เราทุกคนก็รู้ว่าฝ่ายเขาไม่มีทางชนะ ฉะนั้นนี้เป็นปัญหาหลักที่เขาแก้ไม่ได้ รัฐธรรมนูญที่ร่างออกมาแล้วใช้ไม่ได้ก็เป็นเพราะตรงนี้ ไม่ว่าใครจะมาร่างมันก็ต้องบิดเบือนหาทางทำให้เสียงประชาชนไม่มีความหมาย นั่นเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้รับการยอมรับ และเมื่อไม่ได้รับการยอมรับ ทุกอย่างมันก็วนอยู่อย่างนี้

ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ที่ความจงใจหรือไม่จงใจสืบทอดอำนาจ แต่มันเป็นปัญหาที่ตัวชนชั้นนำทั้งชนชั้นที่แก้ปัญหานี้ไม่ตก ที่จะจัดการเลือกตั้งอย่างไรที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ชนะ หรือชนะแล้วทำอย่างไรให้บริหารประเทศไม่ได้ เขายังหาสูตรสำเร็จไม่ได้ เมื่อยังทำไม่ได้การสืบทอดอำนาจหรือให้กลุ่มตัวเองมีอำนาจไว้ก่อน มันเป็นวิธีการที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา

คือเมื่อไรก็ตาม สมมติมีใครปิ๊งปั๊งไอเดียที่สามารถทำอะไรก็ตามที่ไม่น่าเกลียด แล้วสามารถทำให้เพื่อไทยไม่สามารถชนะเลือกตั้งได้ หรือชนะแล้วก็ไม่สามารถทำงานได้เขาก็จะทำทันที


*****

เสรีชน


No comments:

Post a Comment