บทนำ
เมื่อ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๑ ขณะที่ผู้เขียนเดินเกร่อยู่ในบริเวณที่พักผู้โดยสาร ขาออก ท่าอากาศยาน กรุงเทพฯ เพื่อรอการขึ้นเครื่องบินเดินทางไปราชการที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศ มาเลเซียนั้น สายตาก็เหลือบไปเห็นหนังสือ สีแดงชาดสะดุด ตาวางอยู่บนชั้นของคอก ขายหนังสือเล็กๆ แต่ที่สะดุดใจก็คือชื่อของหนังสือ Sun Tzu : Art of Warหรือพากย์ไทยว่า ศิลป์แห่งสงครามของซุนวู แปลเป็นภาษาอังกฤษ จากภาษาจีนโดย Ralph D. Sawyer ที่ว่า สะดุดใจ ก็เพราะว่าผู้เขียนได้ยินชื่อของซุนวูมาตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียมทหาร โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง วาทะอมตะ ของ ซุนวูที่ว่า รู้เขา รู้เรา ร้อยรบมิพ่าย ไม่รู้เขารู้เรา ร้อยรบจักพ่าย ผู้เขียน ก็ได้ยินบุคคล ต่างๆ กล่าวอ้างบ่อยๆ ต่างกรรม ต่างวาระกัน จึงมีความสนใจใคร่รู้เรื่อง ซุนวูอย่างจริงจังแต่นั้นมา แต่ก็ยังไม่สบโอกาสที่จะหาผลงานของซุนวูมาศึกษาได้ จนถึงวันนั้น ที่สนามบิน ความต้องการ ที่ผ่านมาจึงบรรลุความประสงค์ แม้คำนวณจากราคาเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ เป็นเงินไทย แล้วราคา หนังสือเล่มนี้ก็เป็นเงินมากอยู่ แต่ความอยากรู้มีมากกว่าจึงได้ ซื้อไว้ ๑ เล่ม และเป็นเพื่อนเดินทาง กับผู้เขียน ใน ระหว่างการเดินทางไปราชการที่ประเทศ มาเลเซียครั้งนั้น จากการอ่านหนังสือ เล่มที่ กล่าว ผู้เขียนเห็นว่าเป็นวรรณกรรม ที่เป็น ประโยชน์ ไม่เพียงแต่ด้านการสงคราม แต่ยังนำมาประยุกต์ ใช้กับงานและ ชีวิตประจำวัน ได้จริงสมดังคำเล่าลือ ที่ได้ยินมา จึงใคร่จะขยายเรื่อง ของซุนวูนี้ ให้ผู้อ่านได้รับทราบไว้ด้วย ซุนวูคือใคร?
ตามประวัติที่ค้นคว้ามาได้ ซุนวูเป็นคนในแคว้นฉี มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคซุนซิวประมาณ ๓๗๐
- ๔๗๖ ปี ก่อนคริสต์กาล แคว้นนี้ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลซานตงในปัจจุบัน บรรพบุรุษของซุนวูใช้แซ่ เถียน ต่อมาราว ๕๓๒ ปี ก่อนคริสต์กาลคนตระกูลเถียนได้ย้ายออกจาก แคว้นฉี ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแคว้นอู๋ ซึ่งอยู่ในภาคกลางของมณฑลเจียงซูปัจจุบัน ณ ที่นี้ ซุนวูเริ่ม ให้ความสนใจค้นคว้าเกี่ยวกับ ตำราพิชัยสงครามต่างๆและคบหาสมาคมกับบรรดาขุนพลจนกระทั่ง มีความ แตกฉานในเรื่องพิชัยสงคราม แต่ก็ยังไม่มีผู้ใดประจักษ์ในความสามารถของเขากำเนิด ศิลป์แห่งสงคราม
ราว ๕๑๖ ปี ก่อนคริสต์กาล อู๋กวงได้ลอบปลงพระชนม์อู๋อ๋องเหลียวพระราชบิดา แล้วสถาปนา ตนเองขึ้นเป็นอู๋อ๋องเหอหลี ครองราชสมบัติ แทน ต่อมาราว ๕๑๒ ปี ก่อนคริสต์กาล อู๋อ๋องเหอหลี มีพระราช ดำริจะทำสงครามกับแคว้นฉู่ แต่ยังขาด ขุนพลนำทัพ อู่จือซี ขุนพลผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น ได้เสนอตัวซุนวูให้เป็นขุนพลนำทัพแก่ อู๋อ๋องเหอหลี ถึง ๗ ครั้ง ทำให้ อู๋อ่องเหอลีอยากพบตัวจริง จึงได้เรียกตัว ซุนวู เข้าเฝ้า ซึ่งการเข้าเฝ้าครั้งนี้ซุนวูได้นำศิลป์แห่งสงครามที่เขาเขียนขึ้นทูลถวาย แก่อู๋อ๋องเหอหลีด้วย ซึ่งพระองค์ได้ซักถาม รายละเอียดต่างๆ ของข้อเขียนในทุกแง่ทุกมุมจนได้รับ คำตอบ เป็นที่ พอพระทัย ตามพงศาวดารจีนนั้น นอกจากการตอบข้อซักถามแล้วอู๋อ๋องเหอหลียัง ให้ซุนวูทดสอบภาคปฏิบัติจริง โดยให้ ทดลองกับนางกำนัลของพระองค์ว่าตำรานี้จะใช้กับ ผู้หญิง ได้หรือไม่ ซุนวูก็ได้ตอบรับ ด้วยความมั่นใจ ว่าใช้ได้จริง ถ้าพระองค์มอบอาญาสิทธิ์ในการปกครอง และฝึกนางกำนัลเหล่านี้แก่เขา
อู๋อ๋องเหอหลีได้มอบนางกำนัลในวัง ๑๘๐ คน และดาบอาญาสิทธิ์แก่ซุนวู ในการฝึกนางกำนัล เหล่านี้ ซุนวูได้แบ่ง นางกำนัล ออกเป็น ๒ กลุ่ม พร้อมอาวุธครบมือ แต่ละกลุ่มให้สนมคนโปรดของ อู๋อ๋องเหอหลี เป็นหัวหน้า ในการฝึกนั้นซุนวู ใช้วิธีการฝึกง่ายๆ คือการฝึกแถวพร้อมอาวุธและสั่งการ ให้กระทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด คือการมองตรงไปข้างหน้า ขวาหัน ซ้ายหัน และการเดินแถวไป พร้อมๆ กัน โดยซุนวูซักซ้อม ความเข้าใจ และสอบถาม จนแน่ใจว่า ทุกนางเข้าใจ ในสิ่งที่ ต้อง ปฏิบัติตามคำสั่งเป็นอย่างดี ในครั้งแรกซุนวูสั่งแถวขวาหัน แต่ทุกนาง ในแถวเอาแต่หัวเราะ คิกคัก อย่าง สนุกสนาน ซึ่งในครั้งแรกนี้ซุนวูได้ยกโทษให้และคาดโทษว่าออกคำสั่งแล้วกองทหาร ไม่ทำ ตาม ทั้งๆ ที่จำคำสั่งได้ขึ้นใจ เป็นความผิด ของผู้บังคับบัญชาจากนั้นก็ ซักซ้อมความเข้าใจแก่ นางกำนัลทั้งหลาย ในแถวอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นซุนวูก็สั่งแถว ในแบบเดิมอีก แต่เหตุการณ์ยังคงเป็น ไปในลักษณะเดิม ซุนวูจึงสั่งให้ประหารนางสนมคนโปรดทั้งสองของอู๋อ๋องเหอหลี แม้อู๋อ๋องเหอหลี ตรัสขอชีวิตนางทั้งสองไว้ แต่ซุนวูก็มิยอมละให้ โดยกล่าววาทะอมตะว่า เมื่อ ผู้บังคับบัญชาทหาร ได้รับ มอบหมายให้ ปกครองกองทหารแล้ว องค์จักรพรรดิไม่ควรแทรกแซงอู๋อ๋องเหอหลีแม้จะ อาลัย รักนางสนมทั้งสองเพียงใด ก็มิอาจกลับวาจา ของพระองค์ให้เสียการปกครองที่มอบหมาย แก่ซุนวูได้ นางสนมทั้งสองจึงถูกลงโทษประหารในที่สาธารณะ จากนั้นซุนวู แต่งตั้งให้นางกำนัล ๒ คนขึ้นมาเป็นหัวหน้าใหม่ของสองกลุ่ม การฝึกต่อจากนี้ไปก็ไม่มีเสียงหัวเราะอีกแล้ว คำสั่งต่างๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกซุนวูได้กราบทูลอู๋อ๋องเหอหลีว่า นางกำนัลเหล่า นี้พร้อมที่ จะปฏิบัติภารกิจ ที่ยากลำบากที่สุดให้แก่พระองค์ได้แล้ว และทูลเชิญให้พระองค์ตรวจ แถวนางกำนัล ถึงตอนนี้อู๋อ๋องเหอหลี ไม่ทรงอยู่ใน อารมณ์ที่จะตรวจแถวเสียแล้ว เพราะทรงเสีย พระทัยกับ การตายของพระสนม ๒ คน ในการฝึกครั้งนี้ จึงทรง งดตรวจพล และให้เลิกแถวนาง สนมไป ซุนวูเห็นดังนั้นก็รำพึงว่าพระองค์ทรงชอบทฤษฎีทางทหารแต่พระองค์เองก็ไม่สามารถ ปฏิบัติ ตามทฤษฎีได้ อย่างไรก็ตามถึงแม้อู๋อ๋องเหอหลีจะไร้ความสุขจากการเสียนางสนมทั้งสองไป พระองค์ ก็ทรง ทราบดีว่า ซุนวูเป็นนักการทหารที่มีความสามารถและเป็นผู้ที่พระองค์สามารถฝากผีฝากไข้ในการสงครามได้ จึงทรงแต่งตั้ง ให้ซุนวู เป็นขุนพลในกองทัพของพระองค์
นับแต่นั้นมาแคว้นอู๋ก็เข้าโจมตีแคว้นฉู่ทางตะวันตก และแคว้นฉีกับแคว้นฉินทางเหนือ จนกลายเป็นมหาอำนาจในยุค สงครามระหว่างแคว้นภายใต้การนำของซุนวูผู้เป็นแม่ทัพซึ่งจาก กำเนิดของศิลป์แห่งสงครามตามที่กล่าวมาแล้วนี้ พอจับเป็น หลักการได้ว่า
- คำสั่งที่ให้แก่ทหารจะต้องชัดเจน ไม่คลุมเครือ
- ผู้บังคับบัญชาทหาร จะต้อง รับผิดชอบต่อผู้ใต้บังคับบัญชาของตนในทุกกรณี
- การให้คุณและการลงโทษต้อง เด็ดขาด ตรงไปตรงมา
- ความผิดนั้นอาจยกโทษให้ได้ แต่จะให้เกิดซ้ำอีกมิได้
คุณค่าของตำราพิชัยสงครามซุนวู
ตำราพิชัยสงครามซุนวูนี้ ได้รับความสนใจไม่เพียงแต่นักการทหารของจีนตั้งแต่อดีตมา จนถึงปัจจุบันเท่านั้น แม้แต่ใน ต่างประเทศ ก็มีการนำเอาตำราพิชัยสงครามนี้ไปใช้ในประเทศ ของตน โดย พลิกแพลงและ ปรับแต่งเพื่อนำไปใช้ได้ ทั้งในด้านการทหาร และ การปฏิบัติงาน อื่นๆ ญี่ปุ่น เป็นประเทศแรกที่นำเอาตำรานี้ไปแปล ใช้ในภาษาของตน มีการเปิดสอนตำรานี้ใน ญี่ปุ่น สมัยของโชกุน โทกุกาวา ส่วนในทางซีกโลกตะวันตกนั้นบาทหลวงชาวฝรั่งเศสซื่อ โจเซฟ อามิโอ ได้แปลตำรานี้เป็นภาษา ฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๖ในชื่อการทหารของจีนและในประเทศ อังกฤษ คาร์ล ท็อป ได้แปลตำรานี้เป็นภาษาอังกฤษใน พ.ศ.๒๔๔๘ นักการทหาร คนสำคัญ ที่เคยอ่านตำราพิชัยสงครามซุนวูมาแล้ว เช่น นโปเลียน โบนาปาร์ตแห่งฝรั่งเศสพระเจ้า ไกเซอร์ แห่งเยอรมนี และ นายพลมอนต์โกเมอรี แม่ทัพอังกฤษ เป็นต้น
แม้ว่าแต่เดิมตำราพิชัยสงครามซุนวูจะเป็นตำราทางทหารก็ตาม แต่ก็ได้มีการนำเอา หลักการในตำรานี้ไปประยุกต์ใช้ในกิจการต่างๆ อย่างได้ผล มีการกล่าวว่าเพราะญี่ปุ่นประยุกต์ ใช้หลักการนี้เข้ากับสภาพของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงได้ก่อร่างสร้างตัวมาจนยิ่งใหญ่ ในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยนั้น ตำราฉบับนี้เข้ามาในประเทศเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัดแต่ก็มี
การแปลเป็น ภาษาไทย หลาย สำนวนด้วยกัน เช่น สำนวนของ บุญศักดิ์ แสงระวี เป็นต้นแต่เมื่อ พิจารณาในแง่ของ ความสนใจที่จะนำ ตำราพิชัยสงครามซุนวู มาประยุกต์ ใช้อย่างจริงจังใน ประเทศไทยนั้นแทบจะไม่มีเลย ที่มีอยู่ก็มักจะเป็นเพียงยกวาทะ คำคมในตำราเล่มนี้ มาคุยกัน พอเป็น กระสายเท่านั้น
เนื้อหาของตำราพิชัยสงครามซุนวู เนื้อหาของตำราพิชัยสงครามของซุนวู แบ่งออกเป็น ๑๓ บท ด้วยการใช้ถ้อยคำ สำนวนที่สั้น กระชับ กินความกว้างขวาง ลึกซึ้งเป็นเหตุเป็นผล นับเป็นเพชรงามเม็ดหนึ่งทางวรรณกรรม ที่สามารถทำให้ ผู้อ่านมีโอกาสใช้ความคิดของตน ได้อย่างกว้างขวาง โดยมิต้องยึดติดตายตัวกับคำศัพท์ต่างๆ ผู้อ่านในทุกแวดวง จึงอาจ ใช้วิจารณญาณของตนตีความเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่าง ไม่มีข้อจำกัด
รายละเอียดของหัวข้อในบทต่างๆ มีดังนี้
๑. การประเมินสถานการณ์ (Initial Estimation)
๒. การเข้าสู่สงคราม (Waging War)
๓. การวางแผนการรุก (Planning Offensive)
๔. การจัดวางกำลัง (Military Disposition)
๕. ยุทธศาสตร์ของอำนาจทางทหาร (Strategic Military Power)
๖. การรู้ตื้นลึกหนาบาง (Vacuity and Substance)
๗. การเข้าทำการรบ (Military Combat)
๘. ความเปลี่ยนแปลง ๙ ประการ (Nine Changes)
๙. การเดินทัพ (Maneuvering the Army)
๑๐.รูปลักษณ์ภูมิประเทศ (Configuration of Terrain)
๑๑. ภูมิประเทศ ๙ ประการ (Nine Terrian)
๑๒. การโจมตีด้วยไฟ (lncendiary Attacks)
๑๓. การใช้จารชน (Employing Spies)
การที่จะอธิบายในรายละเอียดถึงเนื้อหาในแต่ละบทตามที่กล่าวข้างต้น ไม่อาจกระทำ ได้ใน บทความนี้ ผู้เขียนจึงขอยก มาเพียงบางประเด็นที่เห็นว่ามีความสำคัญ และยกตัวอย่าง ประกอบพอสังเขป คือ ในบทที่ ๘ หัวข้อความเปลี่ยนแปลง ๙ ประการนั้น ได้กล่าวถึงอันตราย ๕ ประการของขุนพล ไว้ดังนี้
๑. มุทะลุดุดัน บุคคลประเภทนี้จะทำอะไรก็ห้าว กล้าได้กล้าเสีย ไม่คิดหน้าคิดหลัง และ มักทำให้เสียภารกิจ ถ้าเป็นใน สนามรบก็มักถูกจับเป็นเชลย หรือถูกฆ่าตายเสียก่อนจะรบ ชนะ
๒. ขี้ขลาด บุคคลประเภทนี้จะขลาดกลัวกับสิ่งที่ตนต้องรับผิดชอบ ถ้ามีงานหินๆ หรือตน ไม่เข้าใจแล้ว แทนที่จะพยายาม ศึกษา ก็จะใช้วิธีให้ลูกน้องออกรับหน้าแทน โดยอ้างว่าป่วย บ้าง ติดธุระบ้าง หรือมิฉะนั้น ก็อ้างว่าเรื่องแค่นี้ไม่จำเป็น ต้องถึง มือตนเอง แค่ลูกน้องก็พอ นายประเภทนี้ถ้าอยู่ในสนามรบ จะอยู่ข้างหลังลูกน้องเสมอ จึงมักไม่ได้รับ ความเชื่อถือ จากผู้ใต้ บังคับบัญชา
๓. มีโทสะจริตรุนแรง บุคคลประเภทนี้จะถือตัวเป็นใหญ่เหนือลูกน้อง เมื่อไม่พอใจหรือ โกรธ ก็จะดุด่าลูกน้องอย่างรุนแรง โดยไม่เลือกกาลเทศะ ทำให้ลูกน้องหลีกเลี่ยงการพบปะ และไม่จงรักภักดี ถ้าเป็น ในการศึกแล้ว จะต้องสู้รบ ตามลำพัง จนตัวตาย
๔. ถือศักดิ์ศรีหรือกฎระเบียบเกินไป บุคคลประเภทนี้จะเคร่งครัดกฎระเบียบ ตายตัว อาจถูกท้าทาย หรือยุแหย่ ให้อับอาย ได้ง่าย ดังนั้น ถึงแม้จะเห็นหนทางใดที่จะบรรลุภารกิจ ได้ก็ตาม แต่ถ้าคิดว่าทำให้ตนเสียหน้า หรือขัดกฎ ระเบียบ เสียแล้ว นายประเภทนี้ก็จะยอมรับ ความสูญเสียของ ส่วนรวมนั้น เพื่อรักษากฎระเบียบหรือ เอาหน้าตนเองไว้ก่อน
๕. เป็นคนใจอ่อน บุคคลใจอ่อนจะมีลักษณะ คือ เป็นคนขี้สงสาร หรือประนีประนอม ตลอด ไม่กล้าที่จะขัดใจ หรือลงโทษ ใครเลย ผลก็คือไม่มีการตัดสินใจ โดยยืนอยู่บนพื้นฐาน ของข้อเท็จจริง ถ้าเป็นสถานการณ์ ในสนามรบ ที่ผู้บังคับบัญชาทหาร ตามใจลูกน้องทุกคน แล้ว คงไม่ต้องบอกว่าผลการรบจะออกมาอย่างไร
สิ่งอันตรายทั้ง ๕ ของขุนพลตามที่กล่าวข้างต้นนี้ ซุนวูกล่าวว่านำไปสู่หายนะของตัวขุน พลเองในที่สุด โดยยังไม่ต้องเอ่ย ถึงความพินาศของกองทัพที่จะเกิดขึ้นต่อมา
และจากบทนำที่กล่าวข้างต้น ผู้เขียนจึงขอเริ่มต้นบทที่ ๑ ในฉบับนี้รวมไปด้วย
บทที่ ๑ การประเมินสถานการณ์
ในบทนี้ว่าถึงการประเมินสถานการณ์ก่อนเข้าทำการศึก ซึ่งซุนวูได้กล่าวไว้ ในวรรคแรกว่า สงครามนั้น เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ของประเทศชาติ เป็นเครื่องชี้เป็นชี้ตาย เป็นหนทางของการอยู่รอดหรือสิ้นชาติ จึงต้องมีการพินิจพิเคราะห์ อย่างจริงจัง และถี่ถ้วน
ในการประเมินสถานการณ์นั้น ให้ พิเคราะห์ดูจากปัจจัย ๕ ประการ คือ ๑.คุณธรรม ๒.ดินฟ้าอากาศ ๓.ภูมิประเทศ ๔.ขุนพล และ ๕.กฎระเบียบ ซึ่งปัจจัยทั้งห้า นี้ แม่ทัพจะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ จึงจะมีชัยชนะในการรบ
คุณธรรม คือสิ่งที่ทำให้ผู้ปกครอง และประชาชนมีจุดประสงค์ร่วมกัน ยินดีร่วมเป็นร่วมตายมิได้หวาดหวั่น ต่ออันตราย ที่จะเกิดขึ้น
ดินฟ้าอากาศ คือสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ ความร้อนหนาว ฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และข้อจำกัดของ เวลา
ภูมิประเทศ คือสิ่งที่เกี่ยวกับความใกล้ไกล ความยากง่าย ความกว้างหรือแคบ และสภาพต่างๆ ที่เอื้อต่อการป้องกัน หรือ หลบหนีจากหายนะ
ขุนพล คือตัวผู้นำทัพ ต้องมีความรู้ มีปัญญาน่าเชื่อถือ มีเมตตา มีความกล้าหาญ และต้องเข้มงวด
กฎระเบียบ คือการจัดกำลัง ระเบียบ วินัย สายการบังคับบัญชาและการจัดการด้านการส่งกำลังบำรุง
ซุนวู กล่าวว่าขุนพลทุกคนจะต้องรู้ถึงหลักของปัจจัย ๕ ประการนี้ ซึ่งผู้รู้และเข้าใจย่อมนำทัพไปสู่ชัยชนะ ส่วนขุนพล ที่ได้แต่เพียงรู้แต่ไม่เข้าใจอย่างแท้จริงแล้ว ย่อมนำทัพไปสู่ความพ่ายแพ้ดังนั้นจึงต้องมีการประเมินสถานการณ์ ด้วยการ เปรียบเทียบและวิเคราะห์เพื่อหาข้อเท็จจริง โดยการตั้งคำถามเหล่านี้คือ
- ผู้ปกครองบังคับบัญชามีคุณธรรมหรือไม่
- ขุนพลมีขีดความสามารถหรือไม่
- ฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ในเรื่องดินฟ้าอากาศและสภาพภูมิประเทศ
- กฎ ระเบียบ คำสั่ง และวินัยของฝ่ายใด มีความเข้มงวดกว่า
- กำลังฝ่ายใดเข้มแข็งกว่า
- นายทหารและทหารฝ่ายใด มีการฝึกหัดศึกษาที่ดีกว่า
- การให้รางวัลและการลงโทษ มีความชัดเจน และเป็นธรรม เป็นไปตามหลักการหรือไม่
จากการตอบคำถามที่กล่าวมาข้างต้น ทุกข้อก็จะทราบได้ว่า ฝ่ายใดจะแพ้และ ฝ่ายใดจะชนะในการศึก ถ้าขุนพลคนใด ปฏิบัติตามวิธีการประเมินข้างต้น และได้เป็น แม่ทัพในการรบแล้ว จะต้องได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน และควรเก็บไว้ใช้ใน กองทัพแต่ถ้าแม่ทัพใดไม่ปฏิบัติตามวิธีการประเมินนี้ และนำทัพเข้าทำการรบแล้ว ย่อมนำไปสู่ความพ่ายแพ้ จึงควรปลด ออกจากราชการ หลังจากการประเมินความได้เปรียบและเสียเปรียบตามที่กล่าวมาแล้วให้นำไปสู่การใช้อำนาจทาง ยุทธศาสตร์ เสริมด้วยกลยุทธ์ในสนามรบ ซึ่งตอบสนองต่อปัจจัยภายนอกอื่นๆ อำนาจทางยุทธศาสตร์หมายถึง การควบคุม ความไม่สมดุลของอำนาจทางยุทธวิธีเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ คือชัยชนะนั่นเอง สงคราม คือการใช้เล่ห์เพทุบาย ดังนั้น เมื่อเข้มแข็ง กว่าให้แสดงอ่อนแอ เมื่อจะเข้าตีให้แสร้งทำ เฉื่อยชาเมื่อเป้าหมายอยู่ใกล้ให้แสดงเหมือนว่าอยู่ไกล เมื่ออยู่ไกลก็ให้แสดงว่า อยู่ใกล้ ล่อข้าศึกด้วยผลประโยชน์ ทำให้ข้าศึกระส่ำระสายแล้วเข้าทำลาย ถ้าข้าศึกมากกว่าให้ตั้งรับ ข้าศึกแข็งแกร่งให้ หลีกเลี่ยง ข้าศึกโกรธให้ยั่วยุ ข้าศึกยโสโอหังให้เหิมเกริม ข้าศึกพักต้องตอแยให้ออกแรง ข้าศึก กลมเกลียวต้องให้แตกสามัคคี โจมตีเมื่อข้าศึกไม่ได้ระวังตัว ทำการรุกเมื่อข้าศึกไม่คาดคิด
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือวิถีแห่งยุทธศาสตร์ทหารที่นำมาสู่ชัยชนะก่อนเข้าทำการรบ เมื่อได้ประเมิน ทุกสิ่งทุกอย่าง รอบคอบครบถ้วนแล้วเห็นว่าปัจจัยส่วนมากเป็นคุณกับฝ่ายตน จะประสบชัยชนะ แต่ถ้ามีปัจจัยเพียงส่วนน้อย ที่เป็นคุณต่อ ฝ่ายตนแล้วจะไม่ได้รับชัยชนะ แต่ เมื่อประเมินแล้วไม่มีปัจจัยใดที่เป็นคุณกับฝ่ายเราเลย ใครเล่าจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะ คงไม่ ต้องวิเคราะห์ให้เสียเวลา ถ้าได้มีการพินิจ พิเคราะห์ในสิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดอย่างถี่ถ้วน ก็ย่อมประจักษ์ในผลแพ้หรือชนะ
บทวิเคราะห์
ในบทที่ ๑ ซุนวูได้กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะทำสงคราม โดยชี้ให้เห็นถึง ปัจจัยสำคัญที่จะต้องนำมา ประเมิน ๕ ประการ ก่อนที่จะเข้าทำการรบ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ ว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็น การพิจารณาเกี่ยวกับการสงคราม ก็ตาม แต่ก็ สามารถนำมา ประยุกต์ ใช้กับการทำงาน ได้เช่นกัน ในการทำงานไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ ทหาร พลเรือน บริษัท ห้างร้านหรือองค์กรต่างๆ ย่อมมีการจัดองค์กร และมีสายการบังคับบัญชา ทำนองเดียว กับ ทหาร เช่นกัน มีผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา และเป้าหมาย ขององค์กรที่จะต้องก้าวไป ให้ถึงทำนองเดียวกันกับการรบที่จะให้บรรลุเป้าหมาย คือชัยชนะ เหมือนกัน จึงอาจใช้ บทที่ ๑ ของตำราพิชัยสงครามซุนวู ในเรื่องการประเมินสถานการณ์มาใช้ตรวจสอบ ว่าหน่วยงาน จะ เจริญรุ่งเรืองและบรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงานหรือไม่ โดยพิจารณาจากปัจจัย ๕ ประการ โดย เทียบเคียงได้ดังนี้
คุณธรรม สิ่งที่ใช้ตรวจสอบได้ว่าหน่วยงานใด มีคุณธรรมหรือไม่ ดูได้จากการที่ลูกจ้าง พนักงานมีทัศนคติอย่างไร ต่อองค์กรนั้น ถ้ามีการร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่มิเห็นแก่ เหนื่อยยาก แสดงว่าผู้ปกครอง มีการปกครองบังคับบัญชาด้วยความ เป็นธรรม ไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง ถือพวกเขา พวกเรา แต่ถ้าผู้ปกครองไม่มีคุณธรรม ขาดเมตตา เล่นพรรคเล่นพวก แล้ว ลูกจ้าง พนักงานก็จะตกอยู่ในสภาพที่ระส่ำระสาย ไม่ทุ่มเทให้กับภารกิจขององค์กร
ดินฟ้าอากาศ ในที่นี้คือ สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีและเกื้อหนุนการทำงานคือไม่ ร้อนไม่หนาวเกินไป ไม่อยู่ใกล้ ที่มีเสียงอึกทึก ที่ทำงานไม่รกรุงรัง ดู สะอาดตา ไม่อยู่ใกล้ คนจู้จี้ขี้บ่น มีช่วงเวลาเข้าทำงาน เวลาพัก และเวลาเลิกงาน ที่เหมาะสม ถ้าเป็นไปดังที่ กล่าวนี้แล้ว ผู้ที่อยู่ในองค์กรย่อมทำงานอย่างมีความสุข มี ผลงาน หรือผลผลิตเพิ่มมากขึ้น
ภูมิประเทศ ในที่นี้เมื่อเปรียบกับการทำงานในสำนักงานจะหมายถึง อุปสรรคในการ ทำงาน ความยากง่ายของงาน การได้รับการสนับสนุนจากผู้ร่วมงานจากหน่วยข้างเคียงและ ผู้บังคับบัญชา
ขุนพล หมายถึงหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาในทุกระดับ ต้องมีความรู้ ความคิดมีสติปัญญา มีภาวะผู้นำ มีคุณธรรมต้อง เป็นคนร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้ใต้บังคับบัญชา สามารถชี้แนะการแก้ ปัญหาให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ และไม่กลายเป็นตัวปัญหา เสียเอง
กฎระเบียบ กฎข้อบังคับ วินัย การปกครอง การให้ความดีความชอบ และลงโทษ การ เลื่อนขั้น เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง เหล่านี้ ต้องเป็นไปอย่างชัดเจน การประเมินทั้ง ๕ ปัจจัย ที่กล่าวมาแล้ว สำหรับการทำงานทั่ว ๆ ไป ถ้าปัจจัยต่าง ๆ ส่วนใหญ่ เป็นคุณแล้ว องค์กร นั้นย่อมเจริญก้าวหน้าอย่างแน่นอน แต่ถ้าปัจจัยส่วนใหญ่เป็นโทษแล้ว หากเป็นบริษัทห้างร้าน ก็เตรียม ล้มละลายได้ในไม่ช้า ถ้าเป็นหน่วยราชการก็คงเต็มไปด้วย Dead Wood ที่กินเงิน เดือนจากภาษีอากรของราษฎรไปวันๆก็ขอจบตำราพิชัยสงครามซุนวูสำหรับ บทนำและบทที่ ๑ เพียงเท่านี้ ส่วนบทวิเคราะห์ของผู้เขียนนั้น ท่านจะเห็นพ้อง หรือ เห็นแย้งประการใดก็แล้ว แต่วิจารณญาณ ของท่านผู้อ่าน แล้วพบกันอีกครั้งสำหรับบทที่ ๒ ในฉบับหน้าครับ
บทที่ ๒ การเข้าสู่สงคราม
ซุนวู กล่าวว่า "กล่าวโดยทั่วไปของยุทธศาสตร์การใช้กำลังทหาร ถ้ามีรถศึกเทียมม้า ๔
ตัว ๑,๐๐๐ คัน รถสนับสนุนหุ้มเกราะหนัง ๑,๐๐๐ คัน ทหารพร้อมเกราะ ๑๐๐,๐๐๐ คน และ
ต้องขนส่งเสบียงเป็นระยะทาง ๑,๐๐๐ ลี้แล้ว ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายไว้สำหรับการรบทั้งใน
และนอกประเทศ ค่าที่ปรึกษาและการทูตและวัสดุอุปกรณ์ เช่น กาว และยางสน สำหรับซ่อม บำรุงรถรบและเกราะ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้เงินถึงวันละ ๑,๐๐๐ ตำลึงทอง เมื่อมีทุกอย่าง
ที่กล่าวมาครบถ้วน จึงจะสามารถเคลื่อนทัพที่มีกำลังพล ๑๐๐,๐๐๐ คน เข้าที่ทำการรบได้"
ชัยชนะจากการรบที่ใช้เวลายาวนานจะทำให้อาวุธหมดความแหลมคม ขวัญกำลังใจของ
กำลังพลลดต่ำลง ถ้าเข้าตีหักเอาเมือง กำลังพลจะอ่อนล้า การรบถ้ายืดเยื้อ งบประมาณจะ
ไม่พอเพียง
เมื่อใดที่อาวุธหมดความแวววาว ขวัญกำลังใจทหารตกต่ำและหมดเรี่ยวแรง ทรัพยากร
ร่อยหรอลง เมื่อนั้น เจ้าครองนครอื่นๆ จะฉวยโอกาสขณะฝ่ายเราอ่อนแอเข้าตีตลบหลังซึ่ง
แม้ว่าฝ่ายเราจะมีขุนพลผู้สามารถ ก็ไม่อาจแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้
ในการรบแม้จะเคยได้ยินว่า มีการรบชนะเร็ว แต่ได้ผลลัพธ์ไม่สู้ดีนักก็ตาม ก็ยังไม่เคย
ได้ยินว่ามีการรบที่ยาวนานซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดี ไม่มีประเทศใดได้รับผลกำไรจากการรบยืดเยื้อ
ผู้ที่ไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงอันตรายจากการใช้กำลังทหาร ย่อมไม่รู้จริงถึงการใช้ศักยภาพทาง
ทหารให้ได้เปรียบ
ผู้เป็นเลิศในการทหารย่อมไม่เกณฑ์ไพร่พลเข้าทำการรบถึง ๒ ครั้ง ไม่มีการส่งเสบียง
ถึง ๓ เที่ยว ถ้าใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ ฝ่ายเราและใช้การส่งกำลังในดินแดนข้าศึกแล้ว เสบียง
อาหารของกองทัพจึงจะพอเพียง
ประเทศชาติจะยุคเข็ญ เมื่อต้องส่งสัมภาระเป็นระยะทางไกล การขนส่งสัมภาระดั่งนี้
ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและยากจนลง
ผู้อยู่ใกล้กองทัพจะขายสินค้าด้วยราคาสูง เมื่อสินค้าราคาสูง ประชาชนก็เดือดร้อนทุก
หย่อมหญ้า ความมั่งคั่งสูญสิ้น เมื่อหมดความมั่งคั่งประชาชนก็มิอาจสนองต่อการระดม
สรรพกำลังของกองทัพได้
เมื่อประชาชนหมดเรี่ยวหมดแรงและสิ้นเนื้อประดาตัว ก็จะโยกย้ายถิ่นฐานออกไป ทรัพย์สินของราษฎรเหลือค่าเพียง ๗ ใน ๑๐ ค่าใช้จ่ายในการสงครามจะสูญสิ้นไปกับรถศึก
ที่ถูกทำลาย ม้าที่อ่อนแรง เกราะ หมวกเหล็ก ลูกศร ธนู ทวน หอก โล่ และวัวเทียมเกวียน เหล่านี้คิดเป็นการสูญเงิน ถึง ๖ ใน ๑๐
ขุนศึกที่ชาญฉลาดจึงมุ่งหาโภคภัณฑ์จากฝ่ายข้าศึก เสบียงข้าศึก ๑ หาบ มีค่าเท่ากับ
ของเรา ๒๐ หาบ อาหารสัตว์ข้าศึก ๑ ทะนาน มีค่าเท่ากับของเรา ๒๐ ทะนาน
กระตุ้นให้ทหารโกรธแค้นเพื่อสังหารข้าศึก ให้รางวัลเมื่อทหารยึดวัสดุอุปกรณ์ของข้าศึก
ได้ ถ้ายึดคร่ารถข้าศึกได้ ๑๐ คัน มอบเป็นรางวัลให้แก่ผู้ยึดคนแรก ๑ คัน เปลี่ยนธงรบบนรถ
ข้าศึกเป็นของฝ่ายเรา และนำมาใช้ในการรบ ดูแลเชลยศึกอย่างดี และเกลี้ยกล่อมให้เป็น
พวก เหล่านี้ทั้งหมดคือ การพิชิตศัตรู ชูกำลังฝ่ายเรา
ดังนั้นชัยชนะที่มีคุณค่า ย่อมได้มาจากสงครามไม่ยืดเยื้อ ขุนพลที่เจนสงครามจึงเป็นผู้
กุมชะตาของปวงชน ควบคุมความมั่นคงและสกัดภยันตรายที่จะมีต่อประเทศชาติ
บทวิเคราะห์
ในบทที่ ๒ ของตำราพิชัยสงครามซุนวู ในวรรคแรก ได้เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญว่า ใน
การเข้าสู่สงครามนั้น การเตรียมการด้านต่างๆ ให้พร้อมสรรพก่อนทำการรบทั้งด้านกำลัง
พล วัสดุอุปกรณ์และการเงิน นับเป็นปัจจัยชี้ขาดในผลของการรบ กองทัพที่เคลื่อนพลโดย ขาดการวางแผนที่สมบูรณ์ตามความจำเป็นในข้อเท็จจริงแล้ว ย่อมปล่อยให้ผลการรบเป็น ไปตามยถากรรม
หลักการข้างต้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานสมัยปัจจุบันได้โดยอนุโลมเป็นอย่างดี ในการจะปฏิบัติงานตามแผน หรือโครงการใดๆ นั้น เปรียบไปก็เหมือนการเข้าสู่สงครามซึ่ง
ชัยชนะก็คือการให้บรรลุเป้าหมายของงานที่กำหนดไว้ โดยตามตำราสมัยใหม่เกี่ยวกับการ บริหาร กล่าวถึงปัจจัยประกอบการทำงานให้บรรลุผลสำเร็จ คือ คน เงิน วัสดุ อุปกรณ์ และ การบริหาร กล่าวคือ คนเปรียบเสมือนทหารพร้อมเกราะ ซึ่งจะต้องเป็นมืออาชีพในงานที่
ตนได้รับมอบหมาย เงิน หมายถึง งบประมาณที่จะต้องได้รับการจัดสรรอย่างพอเพียง ได้
รับการลำดับความสำคัญที่ถูกต้องเพื่อนำมาใช้จ่ายในการบริหารงาน วัสดุอุปกรณ์ คือ พัสดุ
ต่างๆ ที่จำเป็นในการทำงาน ซึ่งเปรียบเสมือนรถศึกและอาวุธต่างๆ และอันสุดท้ายคือ การ
บริหาร ซึ่งหมายถึงผู้จัดการ หรือหัวหน้างาน ซึ่งเปรียบเสมือนขุนพลผู้ทำการวางแผนงาน
และจัดทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้ให้เหมาะสมถูกต้อง ถ้าหัวหน้างานขาดแผนงานที่ดี บรรจุคน
ไม่ตรงกับงาน หรือไม่พอกับงาน จัดสรรงบประมาณให้ไม่พอเพียง ไม่หาเครื่องไม้เครื่องมือ
ในการทำงานให้ แล้วยังสั่งให้ลุยหน้าทำงานไปให้บรรลุเป้าหมาย นั่นก็เปรียบเหมือน การสั่ง
เคลื่อนทัพ เข้ารบโดยขาดความพร้อม ชัยชนะหรือความสำเร็จที่จะได้คงเป็นแค่การ ฝัน
กลางวัน เท่านั้น
ส่วนที่ว่าชัยชนะจากการรบยืดเยื้อ ซึ่งไม่เป็นผลดีนั้น สำหรับการทำงานทั่วๆ ไปแล้ว ผู้
เขียนเห็นด้วยว่าจริง เพราะการทำงานใดๆ ย่อมต้องการผลงานที่รวดเร็ว ยิ่งยืดเยื้อก็สิ้นเงิน
ทองและวัสดุอุปกรณ์ไปมากขึ้นๆ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งเปรียบเสมือนอาวุธทำการรบ
ก็ชำรุดเสื่อมค่าลง ต้องสูญเสียเงินในการซ่อมแซม ผู้ทำงานก็เบื่อหน่ายกับงานที่ไม่รู้จะจบ
เมื่อใด ยิ่งการทำโครงการใหญ่ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนการเข้าตีเมืองแล้ว ยิ่งนานไปผู้ทำงานก็
ยิ่งเครียดและอ่อนล้า เมื่อการทำงานเป็นไปอย่างยืดเยื้อและไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด
ถ้าเป็นบริษัทก็คงต้องเปลี่ยนหัวหน้างาน ซึ่งเปรียบเสมือน ตัวขุนพลใหม่ อันนี้เปรียบเสมือน
การที่เจ้าครองนครอื่นตีตลบหลัง ขณะที่ฝ่ายเราอ่อนแอแล้วขึ้นมาครองเมืองแทน แต่กรณีนี้
อาจไม่เกิดขึ้นจริงกับงานประเภทข้าราชการ เพราะได้มีการวิเคราะห์กันว่า งานราชการ
เป็นงานที่ไม่กำหนดผลกำไร และ งานที่มั่นคงที่สุดในปัจจุบัน คือ การรับราชการ
ตอนที่ ๓ การวางแผนการรุก
ซุนวูกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว วิธีการใช้กำลังทหารเป็นดังนี้คือ คงสภาพเดิมของเมือง
ข้าศึกไว้นับเป็นการดีที่สุด การทำลายเมืองนั้นพึงหลีกเลี่ยง รักษากองทัพข้าศึกไว้เป็นสิ่ง
ที่ดีที่สุด การทำลายกองทัพข้าศึกยังนับว่าเป็นรอง คงกองร้อยข้าศึกไว้เป็นการดีกว่าที่จะ
ทำลายลงไป และคงหมู่รบข้าศึกไว้นับว่าดีกว่าที่จะทำลายลง ตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สรุป
ได้ว่าการได้ชัยชนะร้อยครั้งจากการรบร้อยครั้ง ยังไม่ถือว่าสุดยอดเท่ากับการได้ชัยชนะ
โดยไม่ต้องออกแรงรบ
ความสำเร็จสูงสุดในการสงคราม คือ การทำลายแผนของข้าศึก รองลงมาคือ ทำลาย
พันธมิตรของข้าศึก รองลงมาคือ การเข้าโจมตีข้าศึกโดยตรง ที่เลวที่สุดคือ การเข้าโจมตี
ป้อมค่ายข้าศึก ทั้งนี้การเข้าโจมตีป้อมค่าย ควรจะทำเมื่อหลีกเลี่ยงไม่พ้นแล้วเท่านั้น เพราะ
ต้องมีการเตรียมการอย่างมากคือ โล่กำบังขนาดใหญ่ที่เคลื่อนย้ายได้ รถหุ้มเกราะจู่โจม
รวมทั้งอุปกรณ์ปลีกย่อยอื่นๆ อีกมากมาย การเตรียมการเหล่านี้ต้องใช้เวลาถึง ๓ เดือน
และต้องสร้างคันมูลดินที่ใช้เวลาอีก ๓ เดือน ขุนพลที่มุทะลุขาดความอดทนรอคอย จะสั่ง
ไพร่พลเข้าโจมตีกำแพงเมืองข้าศึก เหมือนฝูงมดปลวกทำให้ต้องเสียรี้พลทั้งนาย และพล
ทหารถึงหนึ่งในสาม โดยที่ไม่อาจทำลายกำแพงเมืองลงได้ นี่ก็คือหายนะของการเข้าตีป้อม
ค่ายข้าศึก ดังนั้น ผู้เป็นเลิศในการยุทธ์ ย่อมได้รับชัยชนะโดยไม่ต้องเข้าทำการรบ เข้ายึด
ป้อมค่ายข้าศึกโดยไม่ต้องใช้กำลัง และเอาชนะได้โดยไม่ต้องรบยืดเยื้อ สู้รบด้วยจุดหมายสูง
สุดคือ ออมกำลังให้สูญเสียน้อยที่สุด ถ้าทำได้ตามที่กล่าวนี้ อาวุธก็ยังคงความแหลมคม
กำลังพลส่วนใหญ่ยังคงสภาพอยู่ และนี่ก็คือยุทธศาสตร์สำหรับการวางแผนการรุก โดยทั่วไป
แล้วยุทธศาสตร์ในการใช้กำลังทหาร มีดังนี้คือ มีกำลังมากกว่าข้าศึกสิบเท่าให้ล้อม หากมี
มากกว่าห้าเท่าให้เข้าโจมตี มีมากกว่าสองเท่าแบ่งกำลังเข้าโจมตี ถ้ากำลังเสมอกัน ให้จู่
โจมก่อน ถ้ากำลังน้อยกว่าให้ตั้งรับ และถ้ากำลังด้อยกว่าข้าศึกมาก จงหลีกเลี่ยงการปะทะ
การดันทุรังสู้ทั้งที่กำลังน้อยกว่ามากย่อมพ่ายแพ้เสมอ ขุนพลเปรียบเทียบประดุจเสาหลักค้ำ
จุนประเทศชาติ ถ้าขุนพลเป็นผู้ชาญศึก ประเทศชาติจะเข้มแข็ง ถ้าขุนพลไร้ความสามารถ
ประเทศชาติจะอ่อนแอ มีสิ่ง ๓ ประการ ที่ผู้ปกครองนำความยุ่งเหยิง มาสู่กองทัพ คือ...
- สั่งให้รุกขณะไม่ควรรุก หรือสั่งให้ถอยขณะเป็นต่อข้าศึก ทำให้กองทัพระส่ำระสาย
- ไม่เข้าใจในกิจการของกองทัพ แต่สั่งการตามอำเภอใจ หรือสามัญสำนึกของตน
ทำให้เหล่าขุนพลสับสน
- ไม่เข้าใจหลักการผสมผสานการใช้กำลังทหารเหล่าต่างๆ ในการดำเนินกลยุทธ์ แต่เข้าแสดงบทผู้บัญชาการ ทำให้เหล่านายทหารเกิดความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ
เมื่อเหล่าทัพต่างๆ ตกอยู่ในสภาพลังเล สงสัย สับสน ไม่แน่ใจ ก็เกิดความระส่ำระสาย
ในกองทัพ ศัตรูก็ฉวยโอกาสนี้เข้ากระทำ และได้รับชัยชนะเป็นต่อฝ่ายเรา...
การนำกองทัพสู่ชัยชนะมีปัจจัย ๕ ประการ คือ
- รู้ว่าเมื่อใดควรรบ และไม่ควรรบ
- รู้จักการออมกำลัง
- นาย และพลทหารเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
- วางแผนและเตรียมการดี
- มีขุนพลผู้ที่สามารถ และไม่ถูกแทรกแซงจากผู้ปกครอง
ทั้ง ๕ ประการนี้ คือวิถีแห่งชัยชนะ
จึงมีคำกล่าวว่ารู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง รู้เขา ไม่รู้เรา รบชนะเป็นบางครั้ง
ไม่รู้เขาไม่รู้เรา รบแพ้ทุกครั้ง
บทวิเคราะห์
ในตำราพิชัยสงครามซุนวู ตอนนี้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการวางแผนที่ดี ก่อนที่จะนำ
ทัพเข้าสู่สงคราม ซึ่งสามารถนำมา ประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานทั่วๆ ไปได้ ดังจะวิเคราะห์
ให้เห็นเป็นส่วนๆ ซุนวูกล่าวไว้ในวรรคแรกของตอนนี้สรุปใจความได้ว่า การได้รับชัยชนะ
ข้าศึกโดยไม่ต้องออกแรงนั้นถือว่าสุดยอด และที่เลวร้ายที่สุดคือ การเข้าตีป้อมค่ายข้าศึก
โดยตรง ซึ่งต้องเสียไพร่พล และทรัพยากรมากมาย และยังไม่อาจมั่นใจในชัยชนะได้
เปรียบเทียบกับการทำงานของกระทรวง ทบวง กรม หรือบริษัทห้างร้านแล้ว ป้อมค่ายของ
ข้าศึกอาจอนุโลมหมายถึง โครงการใหญ่ๆ ที่จะต้องทำให้สำเร็จ และผลสำเร็จที่นับว่า
สุดยอด คือการบรรลุโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด ซึ่งการจะได้รับผลดังกล่าวนี้ได้ ขึ้นอยู่กับ
การวางแผน และการจัดการที่ดี ตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งได้รับงานชิ้นใหญ่เข้ามาซึ่ง
เปรียบโดยอุปมาแล้ว งานชิ้นใหญ่นี้เหมือนเมืองป้อมปราการของข้าศึก ที่บริษัทจะต้อง
เข้ายึด หรือทำงานนี้ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ในการนี้เมื่อรับงานมาแล้ว
ประธานบริษัทเปรียบเสมือนผู้ปกครองประเทศที่จะต้องพิจารณาเลือกคนหรือขุนพลที่
เหมาะสมกับงานชิ้นนี้ให้ทำงาน โดยระบุจุดประสงค์ของงานให้ทราบชัดเจน ผู้รับงานจาก
ประธานบริษัท เปรียบดังขุนพลที่ได้รับมอบหมายภารกิจจากผู้ปกครองประเทศ ให้เข้า
ทำงานตียึดเมืองข้าศึก ซึ่งก็คืองานที่ได้รับมอบหมายนั่นเอง ถ้าประธานบริษัทเลือกคนที่
ถูกต้องเหมาะสมกับงานแล้ว ก็จะได้มืออาชีพซึ่งมีความรู้ในงานเป็นอย่างดี มีการวางแผน
อย่างเป็นระบบ สุขุม รอบคอบ ใจเย็น ไม่วู่วาม และทำงานใหญ่ได้สำเร็จ โดยบริษัทสูญเสีย
ทรัพยากรน้อย และได้ผลกำไรสูง ซึ่งเปรียบดังการยึดเมืองข้าศึกได้โดยละม่อม แต่ถ้าผู้ได้
รับมอบงาน เป็นคนขาดความรู้ วู่วาม ใจร้อน มุทะลุ ขาดการวางแผนที่ดี และมุ่งจะเอาแต่
ความสำเร็จอย่างเร็ว โดยไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่าย แล้วก็จะต้องมีการระดมทั้งบุคคล เงิน วัสดุ
มาใช้ในงานนี้อย่างมาก จนงานด้านอื่นของบริษัทเสียหาย เปรียบเสมือนการเข้าโจมตีเมือง
ป้อมปราการข้าศึกแบบมดปลวกที่ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างสูงต่อฝ่ายเรา ซึ่งถึงแม้จะได้รับ
ชัยชนะแต่ก็บอบช้ำ และได้แต่ซากเมืองที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้
ในส่วนที่ซุนวูกล่าวถึงยุทธศาสตร์การใช้กำลังทหาร โดยเปรียบเทียบจำนวนของฝ่ายเรา
เทียบสัดส่วนกับข้าศึก ที่ว่ามากกว่า ๑๐ เท่าให้ล้อม มากกว่า ๕ เท่าให้โจมตี ด้อยกว่าข้าศึก
ให้หลีกเลี่ยง เปรียบได้กับขนาดของงานที่บริษัทรับมาทำ กล่าวคือ บริษัทใหญ่รับงานเล็ก
ย่อมทำงานสำเร็จแน่นอน ในขณะที่บริษัทเล็กเงินทุนไม่กี่ล้าน อาจหาญไปรับงานใหญ่ระดับ
หมื่นล้าน ก็เหมือนกับกำลังน้อยกว่าข้าศึกมาก แล้วยังดันทุรังจะสู้ก็ย่อมพ่ายแพ้ถึงกับบริษัท
ล้มละลายได้ ดังนั้นการที่ประธานบริษัท จะรับงานอะไรต้องประเมินศักยภาพของตนให้
ถ่องแท้เสียก่อนจึงจะรับงานได้
สิ่งที่ประธานบริษัท หรือผู้บริหาร จะนำความยุ่งเหยิงมาสู่บริษัท ตามที่ซุนวูกล่าวมาแล้ว
ในบทก่อนๆ คือ การมอบงานให้ขุนพลแล้ว ยังเข้าไปแทรกแซงการทำงาน ซึ่งเกือบจะกลาย
เป็นหลักนิยมในการปฏิบัติของแวดวงราชการปัจจุบันไปซะแล้ว กล่าวคือ
- สั่งให้หยุดงานขณะที่งานกำลังคืบหน้าไปด้วยดี ทำให้ลูกน้องผู้ปฏิบัติระส่ำระสายไป
หมด เหมือนขุนพลถูกผู้ปกครองสั่งถอยขณะเป็นต่อ หรือสั่งให้รุกขณะเป็นรองข้าศึก
- ไม่เข้าใจงานนั้นจริง แต่สั่งการตามใจชอบตามหลักกู จนผู้ปฏิบัติสับสนละล้าละลัง
เหมือนผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจหลักการยุทธ์ แต่อยากเป็นพระเอกไปสั่งการเสียเอง
- ไม่เข้าใจวิธีการทำงานในรายละเอียด แต่เล่นบทหัวหน้าคนงานไปสั่งงานซ้อนกับ
หัวหน้างานที่ได้รับมอบหมาย ทำให้ผู้ปฏิบัติทุกระดับเกิดความลังเล สงสัย ไม่แน่ใจ ว่าจะ
ฟังคำสั่งใครดี เสียทั้งงานทั้งเวลาและกำลังใจของคน
จากการแทรกแซงของผู้ปกครองทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หากเกิดขึ้นใน
บริษัทใด ก็จะมีแต่ความระส่ำระสาย การงานผิดพลาด ทำให้งานนั้นล่าช้า ไร้คุณภาพ หรือ
อาจล้มเหลวไปเลย หลักการที่ชัดเจนของซุนวูจึงสรุปได้ว่าผู้ปกครอง เมื่อมอบภารกิจให้
ขุนพลแล้ว ย่อมไม่เข้าแทรกแซง และปล่อยให้ทำงานอย่างอิสระจนสำเร็จ อย่างไรก็ตาม
ข้อเท็จจริงในการทำงานปัจจุบัน ผู้อ่านอาจเห็นอยู่บ่อยครั้งที่การแทรกแซงงานตามที่กล่าวนี้
เกิดขึ้นเป็นปกติวิสัยจากผู้มีอำนาจเหนือกว่า ซึ่งเกิดแม้กระทั่งกับผู้ที่ชอบกล่าวอ้างถึงตำรา
พิชัยสงครามซุนวูอยู่บ่อยๆ สำหรับเหตุผลนั้น ผู้เขียนขอสรุปง่ายๆ ตามสติปัญญาของตนว่า
เกิดจากอาการที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Egoism หรือ ข้าซิแน่กว่าใครนั่นเอง
ดังนั้นปัจจัย ๕ ประการ ที่ทำให้งานบรรลุเป้าหมาย คือ
- รับงานที่ไม่เกินกำลัง เหมือนกับการรู้ว่าเมื่อใดควรรบ ไม่ควรรบ
- วางแผนงานอย่างรอบคอบ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คือการออมกำลัง
- ประธานบริษัท หัวหน้างาน ลูกน้องผู้ปฏิบัติสามัคคีกัน ต่างฝ่ายต่างรู้หน้าที่ไม่ล้ำเส้นกัน งานก็ราบรื่น
- วางแผนเตรียมการดี
- เลือกใช้คนให้ถูกกับงาน และความชำนาญ มีความรู้จริงในงานที่มอบหมาย ไม่ใช่
เลือกใช้เพราะการชอบพอเป็นส่วนตัว อาจทำให้เกิดลักษณะเอานักมวยไปร้องเพลง อัดเทป
ขาย ซึ่งขาดทุนให้เห็นกันมาหลายรายแล้ว และผู้มอบหมายงานก็ไม่ควรแทรกแซงงาน
จนผู้ปฏิบัติปั่นป่วนไปหมด Ego นั้นเกิดได้ แต่ก็ควรคุมสติไว้ด้วย
ถ้าทำได้ ๕ ประการนี้ งานก็สำเร็จราบรื่นแน่นอน จึงขอกล่าวว่า รู้งาน รู้คน งานร้อยชิ้น
เสร็จร้อยชิ้น รู้งาน แต่ไม่รู้คน ทำงานเสร็จเป็นบางชิ้น และไม่รู้งาน ไม่รู้คน ก็มีหวังขาดทุน
เท่านั้นเองครับ
บทส่งท้าย
Egoism มีไว้เล็กน้อยเป็นพลังขับดันงานที่ดี มีมากเกินไปก็ทำให้ไม่เห็นศีรษะผู้อื่น
สำนักงานก็ปั่นป่วน การงานยุ่งเหยิง ความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะการไม่ตัดสิน
ใจ มากกว่าการตัดสินใจที่ผิดพลาด...
สงครามซุนวู (ตอน ๔)
ซุนวูกล่าวว่า
เมื่อครั้งโบราณกาล ผู้ยอดเยี่ยมในการสงคราม ในขั้นแรก ตั้งตนให้อยู่ในภาวะที่ไม่อาจถูกพิชิตได้ เพื่อรอหาจังหวะเข้าทำ การพิชิตข้าศึก
การทำตนให้อยู่ในภาวะไม่อาจถูกพิชิตได้ขึ้นอยู่กับตัวเอง แต่การจะพิชิตข้าศึกได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับข้าศึก
ดังนั้นจึงมีคำกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของการพิชิตข้าศึกสามารถเรียนรู้ได้ แต่ ไม่อาจแน่ใจว่าจะใช้อย่างได้ผล
เมื่อยังไม่อาจเอาชัยได้ให้ตั้งรับเมื่ออาจเอาชนะได้ให้เข้าโจมตี ภายใต้สภาวการณ์เหล่านี้ การตั้งรับจะมีความแข็งแกร่งกว่า การรุกจะอยู่ในสภาพล่อแหลม
ผู้เป็นเลิศในการตั้งรับจะทำตัวประดุจฝังตัวอยู่ใต้บาดาล ผู้เป็นเลิศในการรุกเปรียบประดุจการจู่โจมจากฟากฟ้า ทำได้ ดังนี้จึงสามารถรักษาตัวไว้ได้ และกำชัยอย่างสมบูรณ์
การเล็งเห็นชัยชนะซึ่งปุถุชนทั่วไปอาจทราบได้อยู่แล้ว ยังไม่ถือว่าเป็นที่สุดของความเยี่ยมยอด ชัยชนะที่ได้มาอย่าง ห้าวหาญจนคนทั่วไปแซ่ซ้องสรรเสริญ ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นที่สุดของความเยี่ยมยอด
ดังนั้นการอุ้มกระต่ายอ้วนได้ ก็ไม่อาจถือได้ว่าแข็งแรง การเห็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไม่อาจถือได้ว่ามีสายตาดี การได้ยินเสียงฟ้าร้อง ก็ไม่อาจ ถือได้ว่าหูไว
สมัยโบราณมีคำกล่าวว่า ความ เยี่ยมยอดในการยุทธ์ คือ การพิชิตผู้ที่ง่าย ต่อการถูกพิชิต ดังนั้นชัยชนะของผู้เยี่ยมยอด ในการยุทธ์ จึงไม่ได้หมายไว้ด้วยชื่อเสียง ถึงความฉลาดหรือกล้าหาญ ชัยชนะของบุคคล เหล่านี้จึงปราศจาก ซึ่งความผิดพลาด ผู้ที่ปราศจากความผิดพลาด โดยใช้มาตรการต่าง ๆ นำไปสู่ชัยชนะที่ แน่นอน โดยพิชิตผู้ที่อยู่ในสภาวะพ่ายแพ้ อยู่แล้ว
ดังนั้น ผู้ยอดเยี่ยมในการยุทธ์ ขั้นแรกตั้งตนให้อยู่ในภาวะที่ไม่อาจพ่ายแพ้และหาโอกาสที่จะเอาชัยต่อข้าศึก
ด้วยเหตุผลที่กล่าวนี้ กองทัพที่จะได้รับชัยชนะ ขั้นแรกต้องตระหนักถึงเงื่อนไขแห่งชัยชนะ แล้วหาจังหวะเข้าทำการรบ กองทัพที่มุทะลุบุ่มบ่าม เข้าทำการรบก่อน แล้วจึงแสวงหาชัยชนะ
ผู้ที่เยี่ยมยอดในการใช้กำลังทหารผดุงไว้ซึ่งคุณธรรม และกฎหมาย ดังนี้จึงอาจควบคุมไว้ได้ซึ่งชัยชนะ และความพ่ายแพ้
ด้วยวิธีทางทหาร สิ่งแรกคือการตรวจวัด สิ่งที่สองคือการประเมิน (กำลัง) สิ่งที่สามคือคำนวณ (จำนวนคน) และชั่ง น้ำหนัก (ความแข็งแกร่ง) การชั่งน้ำหนักที่ถูกต้อง นำมาซึ่งชัยชนะ
ดังนั้นกองทัพที่ได้รับชัยชนะเปรียบเสมือนเอาน้ำหนัก ๑ ตัน ไปเทียบกับน้ำหนัก ๑ กรัม กองทัพที่พ่ายแพ้เปรียบเสมือน เอาน้ำหนัก ๑ กรัมไปเทียบกับน้ำหนัก ๑ ตัน การรบที่นำไปสู่ชัยชนะ เปรียบเสมือนกระแสน้ำเชี่ยวกราก ที่ไหลบ่ามาจากผา สูงชันนับพันเมตร ยากที่สิ่งใดจะต้านไว้ได้และนี่คือยุทธศาสตร์แห่งการจัดวางกำลัง
วิเคราะห์
คำกล่าวที่ว่า ผู้ยอดเยี่ยมในการสงคราม ในขั้นแรกตั้งตนให้อยู่ในภาวะ ไม่อาจถูกพิชิตได้ เพื่อรอหาจังหวะเข้าทำการพิชิต ข้าศึกคำกล่าวนี้เมื่อเปรียบเทียบโดยอนุโลมเข้ากับการทำงานซึ่งเสมือนการ เข้าสู่สงครามใด ๆ แล้ว การตั้งต้นให้อยู่ในภาวะ ไม่อาจถูกพิชิตได้ หมายถึงการศึกษาถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ของงานอย่างถี่ถ้วนรอบคอบทุกแง่ทุกมุม จนได้ข้อยุติที่เด่นชัดแน่นอน ว่าปฏิบัติแล้ว งานต้องบรรลุวัตถุประสงค์แน่นอน จึงลงมือทำงานซึ่งย่อมประสบความสำเร็จ ได้รับชัยชนะต่อข้าศึก (งาน)
คำกล่าวที่ว่า การทำตนให้อยู่ในภาวะไม่อาจถูกพิชิตได้ขึ้นอยู่กับตัวเอง แต่การจะถูกพิชิตหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้าศึก เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานแล้ว หมายถึง การปฏิบัติงานเฉพาะของ หน่วยงานใด ตัวอย่างเช่น การซ่อม เครื่องยนต์ ผู้รับผิดชอบย่อมต้องฝึกปรือช่างซ่อม ให้มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีเครื่องยนต์ที่พัฒนาขึ้นไปตลอดเวลา ถ้าทำได้ดังนี้แล้ว ไม่ว่าเครื่องยนต์แบบใด รุ่นใดก็น่าจะซ่อมแซมแก้ไขได้เสมอ ก็เหมือนการทำตนให้ไม่อาจถูกพิชิตได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ จะมีการพัฒนาความรู้และทักษะอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเจอปัญหา หนัก ๆ เกินกำลังเช่น ช่างซ่อมในอู่รถยนต์จะให้ไปซ่อม เครื่องยนต์ก๊าซเทอร์ไบน์เรือก็คงรับไม่ไหว ถึงแม้จะมีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ชนิดนี้อยู่บ้าง ดังนี้ก็เหมือนกับว่าไม่อาจทำงาน ให้สำเร็จ (ถูกพิชิต) เพราะปัญหา (ข้าศึก) ใหญ่เกินความสามารถ
ตามที่ยกตัวอย่างนี้เห็นได้ว่าการงานใด ๆ สามารถเรียนรู้เอาได้ แต่จะใช้ให้ได้ผลหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทำนองเดียว กับ คำกล่าวว่า ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอดบุคคลลักษณะนี้อาจหาพบได้ง่ายตามสำนักงานทั่วไป พอ ๆ กับการเห็นช้างตาม ถนนในกรุงเทพ ฯ คุณลักษณะเฉพาะของคนกลุ่มนี้ คือมีประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร วุฒิบัตรเยอะ แสดงว่ามีการฝึกปรือ วิทยายุทธ์มาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การทำงาน (จนแทบไม่ได้ทำงานจริงเลย) ประชาสัมพันธ์ตัวเองเก่ง ตอบปัญหาได้ทุกเรื่อง ถูกบ้าง ผิดบ้าง แต่เมื่อมอบหมายงานให้แล้วมักทำไม่สำเร็จ โดยอ้างว่าไม่ได้รับความร่วมมือบ้าง เงินหรือเครื่องมือ ไม่พอบ้าง ลงท้ายก็ใช้เล่ห์เหลี่ยมเขี่ยงาน ไปให้คนอื่นทำแทน ผู้บังคับบัญชาบางคนอาจชอบคนประเภทนี้ เพราะมีส่วนช่วยเสริม ภาพลักษณ์ที่ดีแก่หน่วย เนื่องจากประชาสัมพันธ์เก่ง ส่วนงานจะเก่งจริงหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
คำกล่าวที่ว่าเมื่อยังไม่อาจ เอาชัยได้ ให้ตั้งรับ เมื่ออาจเอาชนะได้ ให้เข้าโจมตี ภายใต้สภาวการณ์เหล่านี้ การตั้งรับจะมี ความแข็งแกร่งกว่า การรุกจะอยู่ในสภาพล่อแหลม เปรียบโดยอุปมา หมายความว่า การทำงานใด ๆ จะให้สำเร็จลุล่วง ถ้ายัง ไม่พร้อม ต้องมีการวิเคราะห์ปัญหา หาข้อมูล ประเมินจุดแข็งจุดอ่อน ทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ เหล่านี้ต้องพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน ก่อนลงมือทำจริงเปรียบเสมือนการตั้งรับข้าศึก และเมื่อพร้อมแล้วจึงลงมือปฏิบัติงาน (เข้าโจมตี) ก็จะบรรลุผลสำเร็จ อย่าง แน่นอน ในช่วงขณะตั้งรับเพื่อพิเคราะห์แง่มุมต่าง ๆ นี้โอกาสพลาดไม่เกิดขึ้น จึงมีความแข็งแกร่ง แต่เมื่อเริ่มปฏิบัติงานจริง (รุก) ต้องระดมทรัพยากรทั้งปวงลงไป และยังมีโอกาสที่จะเพลี่ยงพล้ำได้เสมอ
คำกล่าวที่ว่า ผู้เป็นเลิศในการตั้งรับ ทำตัวประดุจฝังตัวอยู่ใต้บาดาล ผู้เป็นเลิศในการรุกเปรียบประดุจเคลื่อนย้าย กำลัง มาจากฟากฟ้า ดังนี้จึงรักษาตัวไว้ได้และกำชัยอย่างสมบูรณ์ เปรียบได้กับการทำงานของคนเก่ง ๒ ประเภท ประเภทแรก อาจจะดูคิดช้าทำช้า แต่แท้จริงแล้วคนประเภทนี้ มีความสุขุมละเอียดรอบคอบ ในการทำงาน เป็นอย่างยิ่ง คนภายนอกอาจดู ว่าเขาเป็นคนตัดสินใจช้า แต่เมื่อพิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ จนถี่ถ้วน และ ลงมือทำแล้ว คนชนิดนี้ก็ทำงานได้สำเร็จด้วยดีทุกครั้งไป คนประเภทนี้เหมาะสม เอาไปทำงานฝ่ายอำนวยการ ช่วยผู้บังคับบัญชาวางแผนหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ประเภทที่สอง คือ คนเก่งที่คิดไว ทำไว ปากไว และตัดสินใจไว แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี คนประเภทนี้เหมาะเอาไปทำงานออกสนาม หรือเป็น ผู้เจรจาต่อรอง จะช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี แต่คนประเภทนี้ก็มีข้อเสียเหมือนกัน เพราะความคิดไว ทำไว และถอย ไม่ค่อยเป็น อาจทำให้หน่วยงานเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มากกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นหน่วยงานใด ๆ ควรใช้คนสองประเภทนี้ อย่างผสมผสานให้ได้สัดส่วนที่ดี ก็จะบรรลุภารกิจของงานอย่างราบรื่นเสมอ
การเล็งเห็นชัยชนะซึ่งปุถุชนทั่วไปอาจทราบได้อยู่แล้วยังไม่ถือว่าที่สุดของความเยี่ยมยอด ชัยชนะที่ได้มาอย่างห้าวหาญ จนคนทั่วไปแซ่ซ้องสรรเสริญ ก็ไม่อาจถือว่าเป็นที่สุดของความเยี่ยมยอด ... การอุ้มกระต่ายอ้วนได้ก็ไม่อาจถือได้ว่าแข็งแรง การเห็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไม่อาจถือได้ว่าสายตาดี การได้ยินเสียงฟ้าร้องก็ไม่อาจถือ ได้ว่าหูไวคำกล่าวในวรรคนี้ของ ซุนวู เป็นคำเตือน ไม่ให้หลงระเริงต่อความสำเร็จอันเป็นเปลือกนอก จนลืมถึงแก่นแท้ของความสำเร็จนั้น ๆ โดยปกติแล้ว ปุถุชนคนธรรมดามักยึดติดกับ ลาภ ยศ สรรเสริญว่า เป็นสิ่งแท้จริง และถือว่านั่นคือความสำเร็จอันเยี่ยมยอดของตน ทั้งที่ลาภ ยศ สรรเสริญนี้ อาจได้มาจากการทำงานเพียงเล็กน้อย โชคช่วย หรืออาวุโสมาก หรือได้จากการ ป้อยอเกินจริงของคนอื่น หรือจากบุญเก่าแต่ชาติปางก่อน ฯลฯ เราอาจเคยทราบกันว่า บางคนทำงานฉาบฉวยไม่เป็นแก่นสาร เล่นสนุกไปวัน ๆ ยังได้ รับลาภ ยศ สักการะ คำสรรเสริญเยินยอ หรืออยู่ในตำแหน่งสูงเหล่านี้คือสิ่งที่ซุนวูเตือนไว้ มีนัยว่า อย่าหลงลำพองไปว่าตนนั้น เยี่ยมยอด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นมายา ที่ไม่ใช่แก่นแท้ของงาน คนที่หลงตนว่าตน เยี่ยมยอดนั้น ซุนวูเปรียบประหนึ่ง คนที่อุ้มกระต่ายได้ก็หลงว่าตัวแข็งแรงกว่าผู้อื่น เห็นดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ก็คิดว่าตัว ตาทิพย์ ได้ยินเสียงฟ้าร้องก็ยังคิดว่า ตัวหู ดีกว่าคนอื่น หลักของซุนวูจึงยกย่องผู้ที่ทำงานไม่ผิดพลาด มีหลักการ ฝึกปรือตนให้พร้อมอยู่เสมอ ที่จะทำงานให้ลุล่วง โดยไม่ ผิดพลาด โดยไม่คำนึงถึงสิ่งอันเป็นเปลือกนอกกองทัพที่จะได้ชัยชนะ ขั้นแรกต้องตระหนักถึงเงื่อนไขแห่งชัยชนะ แล้วหา จังหวะเข้าทำการรบ กองทัพที่มุทะลุ บุ่มบ่าม เข้าทำการรบก่อน แล้วจึงแสวงหาชัยชนะ เปรียบกับการ ทำงานแล้ว ประเภทแรก คือการทำงานที่เสาะแสวงหาข้อเท็จจริงทุกแง่มุมของงาน และกำหนดวิธีการที่เหมาะสม แจ่มชัด แล้วปฏิบัติงานนั้น ๆ ในช่วง เวลาที่เหมาะสม ย่อมประสบผลสำเร็จเสมอ ส่วนประเภทหลังมักเป็นพวกทำงานแบบลวก ๆ สักแต่ว่าทำ ไม่ได้พิจารณา ไตร่ตรองให้ถ่องแท้ แล้วฝากความสำเร็จของงานไว้กับโชคชะตา ถ้าทำไม่สำเร็จก็โทษทุก ๆ สิ่งที่อยู่รอบตัว ยกเว้นตัวเอง คนแบบนี้มีลักษณะเด่น คือ ดูเป็นคนคล้ายกระตือรือร้น มักรับอาสารับทำงาน แต่ทำกี่งาน ๆ ก็มักจะล้มเหลว เพราะตีกิน เอาหน้าไว้ก่อนเสมอ ไม่ได้คิดจะทำงานจริงจัง
ผู้ที่เยี่ยมยอดในการใช้กำลังทหารผดุงไว้ซึ่งคุณธรรมและกฎหมาย ดังนี้จึงอาจควบคุมไว้ซึ่งชัยชนะและความพ่ายแพ้ ในแบบของการทำงานแล้ว ผู้เป็นเลิศในการทำงานย่อมดำเนินการงานไปโดยใช้ หลักการและเหตุผล ใช้หลักคุณธรรม ในการให้คุณและโทษ ดังนี้แล้วลูกน้องย่อมศรัทธาและทุ่มเททำงานให้ถวายหัว งานยากลำบากเพียงใดย่อมช่วยทำจนสำเร็จ เสมอ ซึ่งจะต่างกับพวกไร้คุณธรรม ซึ่งมักใช้ ความกลัวของลูกน้องในการทำงาน มักใช้วิธีแบ่งแยกแล้วปกครอง ตัดสินความดี ของผู้ทำงานจากความใกล้ชิด แม้จะเลวอย่างไรก็ว่าดี คนประเภทนี้มักใช้คำพูดว่า ผิดถูกนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของบุคคล ไม่มี อะไรผิดหรือถูกจริง เพราะคำพูดนี้ ทำให้เขาสามารถทำอะไรก็แล้วแต่ ตามที่ตนต้องการได้เสมอ ถ้าพบใครพูดดังนี้ใน สำนักงาน โดยเฉพาะเป็นผู้ใหญ่ด้วยแล้ว หน่วยงานนั้นก็นับว่าน่าสงสาร เพราะคนที่สูงทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ ยังตัดสินว่าอะไร ถูกผิดไม่ได้ เรื่องที่ลูกน้องจะได้รับความเป็นธรรมก็ไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้าได้คนอย่างนี้มาเป็นผู้บังคับบัญชา เขาจะไม่มุ่งไปที่ ความสำเร็จของหน่วยงาน แต่จะมุ่งไปที่ความพึงพอใจของตนเองเป็นใหญ่ ใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง ผลสุดท้ายงานของหน่วย ก็ไม่ไปสู่เป้าหมาย คือประสบความพ่ายแพ้ มีแต่เขาคนเดียวเท่านั้นที่ได้ชัยชนะ
ด้วยวิธีทางทหาร สิ่งแรกคือ การตรวจวัด สิ่งที่สองคือประเมิน (กำลัง) สิ่งที่สามคำนวณ (จำนวนคน) ชั่งน้ำหนัก (ความแข็งแกร่ง) การชั่งน้ำหนักที่ถูกต้อง นำมาสู่ชัยชนะ
ซุนวูสรุปบทสุดท้ายได้อย่าง กระทัดรัดเป็นขั้นตอน ซึ่งนำมาประยุกต์กับการทำงานใด ๆ ได้ว่า ๑) การตรวจวัด ก็คือการ เก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานถัดมา ๒) ประเมินกำลัง คือ ดูขีดความสามารถ และทรัพยากร องค์ความรู้ที่มีอยู่ ว่าทำงาน นั้นได้หรือไม่ จากนั้น ๓) คำนวณออกมาเป็นทรัพยากรและคนที่ต้องใช้ ทำงานนั้นเมื่อครบถ้วน ๓ ขั้นตอนแรกแล้ว ก็ชั่งน้ำหนักดูว่าโอกาสสำเร็จหรือไม่สำเร็จ มีมากน้อยเพียงใด ถ้าโอกาสสำเร็จมีมากกว่าทำไปแล้วย่อมได้ผลลัพธ์ที่ดี ถ้าประเมินถูกต้องมากแล้ว เปรียบกับการเอาน้ำหนักมากไปวางบนตราชูเทียบกับน้ำหนักน้อย (ล้มเหลว) แล้วย่อมได้ ความสำเร็จเสมอ
ต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วคือ ยุทธศาสตร์แห่งความสำเร็จ ซึ่งต้องเพียบพร้อมไปด้วยการวางแผน และการดำเนินงานที่ดี งานการจึงจะประสบความสำเร็จเสมอ......./
การวางแผนทางทหารนั้น ผู้บังคับบัญชาต้องกำหนดภารกิจของตนให้ชัดเจน
ยุทธศาสตร์ของอำนาจทางทหาร
ซุนวู กล่าวว่า : กล่าวโดยทั่วไปแล้ว การปกครองคนหมู่มากก็เหมือนกับการปกครองคนกลุ่มน้อย ที่ต้องใช้หลักของ การบริหารและจัดการ การบัญชาทัพใหญ่ก็เหมือนกับการบัญชาทัพเล็กจะต้องมีการจัดแบ่งองค์กร และกำหนดหน้าที่
การใช้กำลังขนาดใหญ่ทั้ง ๓ เหล่าทัพเข้าสู้รบข้าศึกให้ได้รับชัยชนะนั้น ต้องใช้วิธีการรบทั้งตามแบบและนอกแบบ
เมื่อใช้วิธีการรบข้างต้นเข้าต่อสู้ข้าศึกแล้ว เปรียบดังการเอาก้อนหินทุบไข่ อันเป็นผลจากการเลี่ยงจุดแข็ง เข้าตีจุดอ่อน
โดยทั่วไปแล้วการสงครามมักดำเนินไปตามแบบ ส่วนชัยชนะได้มาจากปฏิบัติการรบนอกแบบ ผู้ที่เป็นเลิศในการรบ นอกแบบนั้น จักสู้รบได้อย่างยืดเยื้อ อย่างมิเหนื่อยหน่าย เหมือนมีพลังพิเศษไม่หมดสิ้น ประดุจดังแม่น้ำสายใหญ่ ที่ไหลบ่า ไม่ขาดสาย การรบพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปไม่จบสิ้น เหมือนดังดวงเดือนข้างขึ้นสลับข้างแรม ดวงตะวันที่ขึ้นและตกสลับกัน หรือฤดูกาลทั้งปวงที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นวัฏจักร
ห้าเสียงดนตรีผสมผสานกันเป็นเพลงไม่ถ้วนทำนอง แม่สีมีเพียงสาม ผสมกันได้นับล้านสี รสชาติเพียงห้าปรุงแต่ง เป็น อาหารได้หลากรส ในการสงครามนั้น ยุทธศาสตร์การจัดกำลังมีเพียงสำหรับ การรบตามแบบและการรบนอกแบบ ซึ่งอาจ ผสมผสานกันเป็นแผนการรบอันหลากหลายไม่รู้จบ การรบทั้งตามแบบและ นอกแบบจึงต่างส่งเสริมซึ่งกันและกัน เหมือน วัฏจักรที่หาจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดมิได้
ยุทธศาสตร์การจัดกำลังที่ดี ประดุจดังเช่นสายน้ำไหลจากผาสูงที่สามารถเคลื่อนย้ายก้อนหินขนาดใหญ่ เสมือนดัง เหยี่ยวที่ โฉบลงใช้กรงเล็บจับเหยื่อได้อย่างแม่นยำ ผู้ที่ยอดเยี่ยมในยุทธศาสตร์การจัดกำลังต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน รู้ขีดจำกัดตนเอง ยุทธศาสตร์การใช้กำลังที่กำหนดขึ้นอย่างดี จึงเหมือนดั่งสายธนูที่เหนี่ยวจนสุดล้า พร้อมจะปล่อย ลูกธนูออกไป ในห้วงเวลา ที่เหมาะสม
การสู้รบที่ซับซ้อนและยุ่งยากแม้ทำให้เกิดความสับสน ก็มิควรเกิดความ ระส่ำระสาย ในภาวะโกลาหลอลหม่าน หากยังรักษา รูปกระบวนทัพไว้ได้ ก็ยังอาจคุมชัยชนะไว้ได้
ความสับสนเป็นบ่อเกิดของการควบคุม ความกลัวเป็นบ่อเกิดของความกล้า ความอ่อนแอเป็นบ่อเกิดของความเข้มแข็ง กองทัพ จะเรียบร้อยหรือวุ่นวาย ขึ้นอยู่กับการจัดกำลังพล จะกล้าหาญหรือขลาดกลัว ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์การวางกำลังจะ เข้มแข็งหรืออ่อนแอขึ้นอยู่กับการใช้กำลัง
ผู้เป็นเลิศในการรบย่อมเป็นฝ่ายควบคุมสถานภาพของข้าศึกให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ และเป็นฝ่ายเข้ากระทำ ทำให้ ข้าศึกอ่อนแอจนถึงฐานราก แล้วกำจัดให้สิ้นซาก
ผู้เป็นเลิศในการสงครามจึงแสวงหาชัยชนะได้จากยุทธศาสตร์การจัดกำลัง มิใช่ได้จากการเล่นพรรคเล่นพวก ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมีอิสระในการเลือกเป็นผู้มีความสามารถ และใช้ยุทธศาสตร์การจัดกำลังได้
ผู้ที่ใช้ยุทธศาสตร์การจัดกำลัง ย่อมอยู่ในสถานภาพที่สามารถควบคุมคนในสนามรบได้ราวกับว่าเคลื่อนย้ายท่อนซุง หรือ ก้อนหินใหญ่โดยไม่ต้องออกแรง โดยธรรมชาติของท่อนซุงและก้อนหินย่อมอยู่นิ่งบนพื้นราบ และเคลื่อนที่เมื่ออยู่ บนพื้นลาด เอียง ทั้ง ๒ สิ่งนี้เมื่อรูปทรงเป็นเหลี่ยมก็หยุดนิ่ง เมื่อกลมเกลี้ยงก็กลิ้งไปได้ ดังนั้นยุทธศาสตร์การใช้กำลัง ของผู้เป็นเลิศ ใน การใช้คนเข้าทำการรบ ก็เปรียบเสมือนหินกลมที่กลิ้งลงมาจากผาสูงนับเป็นเมตร ซึ่งอำนาจรุนแรงยิ่ง และนี่ก็คือ ยุทธศาสตร์ ของการจัดวางกำลัง
วิเคราะห์
ในตอนนี้ ซุนวูกล่าวถึงยุทธศาสตร์ของการใช้กำลังซึ่งเป็นการมองภาพใน มุมกว้างของการจัดกำลังเข้าทำการรบ ซึ่งก็คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ที่นำไปสู่ชัยชนะ ที่ผู้กำหนดจะต้องเป็นผู้ที่มีสายตายาวไกล มองเห็นผลที่จะเกิดขึ้น จากการวาง ยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน
คำกล่าวที่ว่า การปกครองคนหมู่มากก็เหมือนกับการปกครองคนหมู่น้อย การบัญชาทัพใหญ่ก็เหมือนกับการบัญชาทัพเล็ก เปรียบเทียบกับการทำงานแล้ว การที่มีคนตั้งแต่ ๒ คน มาร่วมทำงานใด ๆ แล้ว ต้องมีการบริหาร และจัดการเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยเสมอ กล่าวคือ แต่ละคนต้องได้รับการกำหนดหน้าที่ และจัดแบ่งงานให้ทำอย่างเป็นสัดส่วน ถ้าไม่มีการจัดการที่ดีแล้ว แต่ละคนก็จะทำงานตามอำเภอใจตนเอง ซึ่งนำไปสู่ข้อขัดแย้ง สับสน ยิ่งมีผู้ร่วมงานในหน่วยเดียวกันมากขึ้น การบริหาร จัดการก็ยิ่งซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ต้องมีการกำหนดสายการบังคับบัญชาในระหว่าง กลุ่มคนทำงานขึ้นมาอีก อย่างไรก็ตาม เมื่อ พิจารณาโดยหลักการแล้ว การทำงานของคนหมู่มากหรือคนกลุ่มเล็ก ก็มีลักษณะเหมือนกัน คือ ต้องมีหัวหน้างาน การกำหนด หน้าที่ การจัดแบ่งงาน และสายงาน
คำกล่าวที่ว่า การใช้กำลังขนาดใหญ่ทั้ง ๓ เหล่าทัพเข้าสู้รบข้าศึกให้ได้รับชัยชนะนั้น ต้องใช้วิธีการรบทั้งตามแบบ และ นอกแบบ ถ้าเปรียบการทำงานเหมือนกับการเข้าสู่สงครามแล้ว อาชีพ การงานไม่ว่าแขนงใดก็ตาม ก่อนที่จะเข้าสู่การทำงาน จริง ย่อมต้องมีการศึกษาอบรมวิชาการในแขนงนั้นให้ถี่ถ้วน เช่น การศึกษาด้านวิศวกรรม การแพทย์ การบัญชี การเกษตร ฯ ต่าง ๆ เหล่านี้มี การจัดการศึกษาไว้ให้เป็นแบบแผนแน่นอน แต่เมื่อ เข้าสู่สนามการทำงานจริงแล้ว ทุกคนจะ พบว่าวิชา ตามแบบแผนที่ร่ำเรียนกันมานั้น เป็นเพียงพื้นฐานกว้าง ๆ ที่ไม่ครอบคลุมรายละเอียดของงานที่ได้ประสบเสียทั้งหมด จำเป็นต้องมีการพลิกแพลง นอกแบบแผนที่ร่ำเรียนมา ซึ่งใครจะทำได้ดีเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับเชาว์ปัญญาของแต่ละคน ซึ่งเห็น ได้ว่าคล้ายคลึงกับการรบจริงในสนามรบ ที่ต้องใช้การรบตามแบบ เช่น ทหารราบ ปืนใหญ่ รถถัง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมี หน่วยรบพิเศษนอกแบบมาช่วยเสริมให้บรรลุผลดีขึ้น
การผสมผสานการทำงานทั้งตามแบบ (ตำรา) และนอกแบบ (นอกตำรา) จึงเป็นการใช้กลวิธีที่ดีที่สุดในการทำงาน ทำให้งาน ยากกลายเป็นงานที่ง่าย ซึ่งซุนวูกล่าวว่าบรรลุผลดัง การเอาก้อนหินไปทุบไข่
คำกล่าวที่ว่า สงครามมักดำเนินไปตามแบบ ส่วนชัยชนะได้มาจากการรบนอกแบบ นั้น หมายความว่ากิจการงาน ใด ๆ โดยทั่วไปแล้ว มักดำเนินไปในลักษณะของงานประจำที่มีแบบแผนวางไว้ เห็นได้ ชัด ๆ ตัวอย่างเช่น เรามาทำงานทุกเช้า และกลับในตอนเย็นกันทุก ๆ วัน อันเป็นแบบแผนตายตัว แต่ในห้วงของการทำงานนั้น ปัญหาของงานเรื่องเดียวกันใน แต่ละวัน อาจแตกต่างกันไปในรายละเอียด ซึ่งผู้ไม่มีหัวพลิกแพลงไม่อาจแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ ในขณะผู้ที่เฉลียวฉลาด อาจคิด วิธีอันพิศดาร มาแก้ปัญหาไปได้ ดังนั้นผู้มีสติปัญญา จึงอาจแก้ปัญหาได้ไม่มีติดขัดเปรียบเหมือนผู้สามารถทำการรบนอกแบบ ย่อมไม่มีขีดจำกัดในการทำงาน สามารถปรับตัวไปมาได้เช่นเดียวกับการเกิดข้างขึ้นข้างแรม หรือการหมุนเวียน เปลี่ยน ฤดูกาลที่ไม่มีสิ้นสุด ผู้เป็นเลิศในการทำงานใด ๆ จึงเปรียบเสมือนทั้งนักดนตรี ช่างเขียนภาพสี หรือ แม่ครัว ที่ผสมผสาน ของไม่กี่สิ่ง เช่น เสียงดนตรีทั้งห้า สีทั้งสาม และรสทั้งห้า ออกมาได้สอดคล้องกลมกลืนเป็นเพลงไพเราะ สีที่สวยงาม หรือ อาหารเลิศรสได้เสมอ
ซุนวูเน้นย้ำถึงการใช้คนให้ถูกกับงานอย่างยิ่ง จึงกำหนดให้การจัดกระบวนทัพ ต้องมียุทธศาสตร์การจัดกำลังที่ดี และ เหมาะสมให้ผู้บังคับบัญชากำหนดภารกิจของตนให้ชัดเจน รู้ขีดจำกัดของหน่วย ดังนั้น เมื่อมีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ดีตรงไป ตรงมาแล้ว ผลงานที่ได้ก็จะออกมาดียิ่ง เหมือนกับธนูที่หลุดจากแล่งไปสู่เป้าหมาย ในห้วงเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี แม้จะมี การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ดีไว้แล้วบางครั้งงานที่ซับซ้อนยุ่งยากก็ใช่จะทำได้สำเร็จง่ายดายนัก อันอาจทำให้เกิดความสับสน แต่ถ้ายังรักษารูปกระบวนไว้ได้ และมุ่งมั่นทำต่อไปก็ยังอาจที่จะบรรลุผลสำเร็จของงานได้เสมอ
คำกล่าวที่ว่า ความสับสนเป็นบ่อเกิดของการควบคุม ความกลัวเป็นบ่อเกิดของความกล้า หมายถึงเมื่อเกิดปัญหา ใน การทำงานในเบื้องต้น ปุถุชน คนธรรมดาจะเกิดความกลัว หรือความสับสนก่อน แต่คนที่มีสติปัญญาย่อม รวบรวมสติ ให้หลักการและเหตุผลแก้ปัญหาได้เสมอ เหมือนกับที่กล่าวกันว่า สงครามสร้างวีรบุรุษหรือ การใช้วิกฤติใช้เป็นโอกาส ที่เราเอ่ยถึงกันเสมอ ๆ ในปัจจุบัน
ซุนวูจึงสรุปใน ๒ วรรคสุดท้ายว่า ชัยชนะที่จะเกิดขึ้นจากการทำกิจการใด ๆ ย่อมเกิดจากยุทธศาสตร์การจัดกำลังที่ดี การคัดเลือกผู้มีความสามารถแท้จริง ซึ่งถ้าผู้นำหน่วยคนใดสามารถทำอย่างนี้ได้อย่างตรงไปตรงมาแล้ว ก็จะนำหน่วยไป สู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้เสมอ
ตำราพิชัยซุนวู (ตอน ๖)
ตอนที่ ๖ การรู้ตื้นลึกหนาบาง
กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ผู้ถึงสมรภูมิก่อนจะอยู่ในฐานะได้เปรียบ ผู้ถึงทีหลังจะ ฉุกละหุก เพราะต้องรีบร้อนจนอ่อนล้า และ อิดโรย ฉะนั้นผู้เป็นเลิศในการสงครามจึงเป็นฝ่ายควบคุมสถานการณ์ มิใช่ถูกควบคุมโดยฝ่ายตรงข้าม
การหลอกล่อข้าศึกให้อยู่ในสถานะที่เราต้องการ ด้วยการใช้ผลประโยชน์เป็นเหยื่อล่อ ป้องกันมิให้ข้าศึกอยู่ในสถานะ ที่เราไม่ประสงค์ ด้วยการสำแดงภัยให้เห็น
ฉะนั้นเมื่อข้าศึกหยุดพักให้ก่อกวน ข้าศึกอิ่มหนำให้อดอยาก ข้าศึกตั้งมั่นทำให้เคลื่อนย้าย รักษาสภาวะให้เหนือกว่าข้าศึก เสมอ จนผู้ใดไม่อาจคาดหมายได้
การเคลื่อนทัพนับพันโยชน์ได้อย่างไม่ยากเย็น ก็ด้วยการใช้เส้นทางปลอดผู้คน เพื่อให้มั่นใจในการโจมตีว่าจะบรรลุผล ให้โจมตีตรงจุดที่ไร้การป้องกัน เพื่อการ ตั้งรับอย่างได้ผล ให้ตั้งมั่น ณ ตำแหน่งที่ข้าศึกไม่อาจเข้าโจมตี
ฉะนั้นผู้เป็นเลิศในการโจมตี จึงทำให้ข้าศึกไม่อาจกำหนดแนวตั้งรับได้ ผู้เป็นเลิศในการตั้งรับทำให้ข้าศึกไม่อาจกำหนดจุดเข้าโจมตีได้ เหล่านี้ คือความแยบยลไร้รูปแบบตายตัว ล้ำลึกจนสุดหยั่งถึง ทำได้ดั่งนี้แล้วจึงสามารถกำหนดชะตากรรมของข้าศึกได้
รุกคืบอย่างง่ายดายด้วยการโจมตีจุดไร้การป้องกัน ล่าถอยอย่างไม่เสียรูปขบวน ด้วยความเร็วที่เหนือกว่า ดังนั้นเมื่อจักเข้า ทำการรบ แม้ว่าข้าศึกจะอยู่ในป้อมค่ายสูง มีคูลึกขวางกั้น ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการปะทะได้ เพราะถูกโจมตี ณ จุดที่จำเป็นต้อง ป้องกัน
ถ้าไม่ประสงค์จะต่อกร กับข้าศึก แม้ขีดเส้นเดียวลงบนพื้นก็ป้องกันฝ่ายเราไว้ได้ เพราะข้าศึกเบนความสนใจไปทางอื่น
ฉะนั้น ถ้าทำให้ข้าศึกต้องวางกำลังตามความต้องการของฝ่ายเรา แต่ข้าศึก ไม่รู้ถึงการวางกำลังของเรา ดังนี้แล้วฝ่ายเราจึงรวมกำลังได้เข้มแข็ง ฝ่ายข้าศึกต้องกระจายกำลังออก ฝ่ายเราจึงรวมพลังเป็นหนึ่งเดียว ส่วนข้าศึกต้อง แยกกำลังออก นับสิบส่วน การโจมตีของเราจึงทรงพลังเป็นสิบเท่า ฝ่ายเราจึงมีกำลังมาก แต่ฝ่ายข้าศึกมีกำลังน้อย ถ้าเอากำลัง มากเข้าโจมตีกำลังน้อย ฝ่ายถูกโจมตีย่อมพ่ายแพ้อย่างยับเยิน
ปกปิดไม่ให้ข้าศึกทราบจุดที่เราจะเข้าตี ข้าศึกจึงต้องเตรียมป้องกันหลายจุดพร้อมกัน จำเป็นต้องกระจายกำลัง แต่ละจุด จึงเหลือกำลังเพียงน้อยนิด ดังนั้นถ้าข้าศึกเตรียมรับมือด้านหน้าด้านหลังก็เหลือคนเพียงเล็กน้อย ถ้าเตรียมรับมือปีกซ้าย ปีกขวาก็เหลือคนเบาบาง ถ้าข้าศึกวางกำลังป้องกันทุกด้าน ก็แทบไม่เหลือกำลังป้องกันแต่ละจุดเลย ฝ่ายกำลังน้อย จะตก เป็นฝ่ายตั้งรับ ฝ่ายกำลังมากจะเป็นฝ่ายรุก
ถ้ารู้สมรภูมิและวันเวลาเข้าทำการรบ ย่อมสามารถเดินทางนับพันโยชน์ไปรบกับข้าศึกได้ แต่ถ้าไม่รู้สมรภูมิ ไม่รู้วันเวลาที่ จะรบแล้ว ทั้งปีกซ้าย ปีกขวา กองหน้า และกองหลัง ย่อมไม่อาจสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ แล้วจะรบไกลหลายสิบโยชน์ หรือ ไม่กี่โยชน์ได้อย่างไร แม้ข้าศึกจะมีกำลังมาก ก็ไม่อาจคาดหวังว่าจะรบกับเราให้ได้รับชัยชนะได้ ฉะนั้นฝ่ายเราจึงอาจบรรลุ ชัยชนะได้ แม้ข้าศึกจะมีกำลังมากกว่า ถ้าสามารถทำให้ข้าศึกอยู่ในสถานะที่ไม่อาจรบได้
พึงพิเคราะห์ให้ถ่องแท้เพื่อประมาณ สถานการณ์ให้รู้ผลได้ผลเสีย หยั่งเชิงข้าศึก ให้รู้รูปแบบการเคลื่อนกำลังและกลยุทธ์ ตรวจสอบการวางกำลังข้าศึก ให้รู้ภูมิประเทศ ที่เป็นจุดเป็นจุดตาย สืบให้รู้ปัจจัยส่วนขาด ส่วนเกินของข้าศึก
สุดยอดของการใช้กำลังทหารเข้า ทำการรบคือการไร้รูปแบบ เมื่อไร้ซึ่งรูปแบบ แม้จารชนที่ฝังตัวอยู่กับฝ่ายเรา ก็ไม่อาจ ล่วงรู้ แผน ผู้มีปัญญาก็ไม่อาจวางแผนเข้าต่อกรกับฝ่ายเราได้
เมื่อพิเคราะห์การจัดวางกำลังของข้าศึก เราอาจทุ่มพลังที่เหนือกว่าเข้าต่อสู้จนได้ชัยชนะ อย่างไรก็ตามพลังที่เหนือกว่า ก็ไม่ช่วยให้รู้ตื้นลึกหนาบางฝ่ายข้าศึก แม้เราจะรู้ถึงรูปแบบการวางกำลังที่จะทำให้เราได้ชัยชนะ แต่ก็ไม่อาจหยั่งรู้ถึง รูปลักษณ์ที่เป็นตัวควบคุมชัยชนะนั้น ดังนั้นยุทธศาสตร์ สำหรับชัยชนะในสงครามจึงต้องไม่ซ้ำซาก แต่จะต้องตอบสนอง ต่อสถานะของข้าศึกที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องปรับเปลี่ยนไปได้ ไม่รู้จบ
การใช้กำลังทหารเปรียบดังน้ำซึ่งไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง มุ่งเข้าหาที่ว่างเปล่า เปลี่ยนรูปลักษณ์ไปตาม ภูมิประเทศที่ไหลผ่าน เฉกเช่นเดียวกับกองทัพที่ครองความเหนือกว่าและยึดกุม ชัยชนะไว้ได้ตามการเปลี่ยนแปลงของศัตรู ดังนั้นการกำหนดยุทธศาสตร์ในการใช้กำลังจึงไม่มีรูปแบบตายตัวทำนองเดียวกับน้ำ ที่ไม่มีรูปทรงแน่นอน ผู้ที่สามารถ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ได้รับชัยชนะตามการเปลี่ยนแปลงของข้าศึก จึงถือว่าล้ำลึก เปรียบเสมือน ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ไม่มีธาตุใด เหนือกว่าธาตุอื่นอย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับ ฤดูกาลทั้งสี่ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป เหมือน ดังแสงตะวันที่บางวันยาว บางวันสั้น เหมือนดวงจันทร์ที่เว้าแหว่งไม่เท่ากัน ในแต่ละวัน
วิเคราะห์
ในบทนี้ซุนวูได้กล่าวอย่างยืดยาวถึงวิถี แห่งชัยชนะในสงครามที่มีนัยพอสรุปได้ว่า การที่จะให้ได้ชัยชนะนั้น ต้องมี การ เตรียมการวางแผนที่ดี และมีความสามารถที่จะปรับเปลี่ยนแผนไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา
ในวรรคแรกที่ซุนวูกล่าวว่าผู้ไปถึงสมรภูมิก่อนจะอยู่ในฐานะได้เปรียบ ผู้ไปถึงทีหลังจะฉุกละหุกและอ่อนล้า เปรียบกับ การทำงานแล้ว ผู้ที่มีการเตรียมตัวดี มีการทำงานเสียอย่างเนิ่น ๆ ไม่รอให้งานรัดตัว ย่อมประสบความสำเร็จอย่างราบรื่น ตัวอย่างเช่น ถ้าเราได้รับมอบหมายงานมาชิ้นหนึ่งที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน ๑ เดือน แล้วรีบดำเนินการไปเลย โดยไม่รอเวลา ครบกำหนดส่งมาถึง ย่อมสามารถที่จะทำงานนั้นให้เรียบร้อยลุล่วงไปด้วยดีอย่างสบาย ๆ แล้วยังมีเวลาเหลือพอ ที่จะแก้ไข ปัญหานั้น ที่ยังอาจมีข้อบกพร่องได้อีก แต่สำหรับผู้มีนิสัยทำงานแบบจุลกฐินหรือเช้าชามเย็นชาม มักจะทอดเวลา ให้ใกล้ถึง กำหนดส่งงาน เสียก่อน จึงรีบร้อนทำงานอย่างลวก ๆ พอให้เสร็จ ทั้งฉุกละหุกและอ่อนล้า ซึ่งเป็นลักษณะปกติ ของปุถุชน คน ธรรมดาทั่วไปที่มักจะทำงานในลักษณะนี้ จนมีคำกล่าวว่างานมักจะขยายตัวออกไปจนเต็มเวลาที่มีอยู่ดังนั้น ผู้ทำงานเสีย แต่ เนิ่น ๆ จึงเปรียบเสมือนผู้เข้าสมรภูมิก่อน ที่สามารถควบคุมความสำเร็จของงานไว้ในกำมือ แทนที่จะถูกงานเป็น ฝ่ายควบคุม
การทำข้าศึกให้อยู่ในสถานะที่เราสามารถจัดการได้ง่าย เปรียบกับการ ทำงานแล้วก็คือการศึกษางานนั้น ๆ อย่างถี่ถ้วน ในทุกแง่ทุกมุม จนมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ทำให้ฝ่ายเรามีความล้ำหน้ากว่างานในความรับผิดชอบ หรือล้ำหน้ากว่าข้าศึก อยู่ตลอดเวลา หลักเกณฑ์ที่ซุนวูกล่าวว่าข้าศึกพักให้ก่อกวน อิ่มให้หิว หยุดให้เคลื่อนย้ายนี้ เมาเซตุง อดีตผู้นำพรรค คอมมิวนิสต์จีนได้ดัดแปลงไปใช้ในการต่อสู้กับฝ่ายก๊กมินตั๋ง ในสงครามปลดแอก อย่างได้ผล โดยสรุปเป็นหลักการสั้น ๆ ว่าเอ็งมาข้ามุด เอ็งหยุดข้าแหย่ เอ็งแย่ข้าตี เอ็งหนีข้าตาม
ที่ซุนวูกล่าวว่าเคลื่อนทัพนับพันโยชน์ไม่เหนื่อยล้า โดยใช้เส้นทางปลอด ผู้คนเปรียบกับการทำงานก็คือ แก้ปัญหาการงาน โดยเริ่มจากจุดที่ง่ายไปหายาก เป็นลำดับ ก็เหมือนการโจมตีข้าศึก ณ จุดที่ขาดการป้องกัน ย่อมได้ผลดีกว่าการ โจมตีจุดแข็ง ที่ทั้งเหน็ดเหนื่อยและสูญเสีย โดยไม่จำเป็น
สำหรับการตั้งรับอย่างได้ผล ให้ตั้งมั่น ณ ตำแหน่งที่ข้าศึกไม่อาจเข้า โจมตี คือ การฝึกหัดศึกษาหาความรู้ ในหน้าที่การงาน อย่างสม่ำเสมอ ย่อมสามารถรับมือกับงานต่าง ๆ ที่เข้ามาได้เสมอ ก็เหมือนกับการตั้งมั่นรับมือข้าศึก ณ ตำแหน่งที่ไม่อาจ เข้าโจมตีได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการงานที่เกิดขึ้นในแต่ละวันย่อมผิดแผกแตกต่างกันไป ทั้งในด้านเงื่อนไขและเวลา ผู้เป็นเลิศ ในการทำงาน ย่อมพลิกแพลงพิจารณาแก้ปัญหาได้เสมอ ทำได้ดังนี้แล้วจึงนับว่ามีความแยบยล ล้ำลึก ไร้รูปแบบตายตัว ผู้สามารถแก้ไข สถานการณ์ได้ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าปัญหาจะยากง่ายเพียงใด จึงถือว่าเป็นเลิศ
ที่ซุนวูกล่าวว่า ถ้าไม่ประสงค์จะต่อกรกับข้าศึก แม้ขีดแนวบนพื้นเพียงเส้นเดียว ก็อาจป้องกันฝ่ายเรา ไว้ได้เปรียบกับ การทำงานแล้วผู้เฉลียวฉลาดย่อมมีขีดความสามารถในการประเมินตนว่ารับงานได้หนักสุดเพียงใด เพราะคน ไม่ใช่เทวดา ที่จะเสกเป่าปัญหาทุกเรื่องให้ลุล่วง ไปได้ ถ้ามีปัญหาบางอย่างที่เกินกำลังแล้ว ก็ไม่ควรจะรับงานนั้น เพราะผู้มีความคิด ย่อม สำนึกรู้ได้อยู่แล้วจะทำงานนั้นได้บรรลุผล หรือไม่ เปรียบประดุจการขีดเส้นเพียง เส้นเดียวลงบนพื้น คือไม่รับงานนั้น ก็สามารถจะหลีกเลี่ยงความล้มเหลวของตนหรือหน่วยงานได้ แต่สำหรับผู้เบาปัญญาที่ประเมินกำลังตนไม่ถูก หรือมี EGO สูงแล้ว มักจะรับงานนั้นไว้ก่อน ทำได้ไม่ได้ ค่อยมาคิดทีหลัง บางทีก็มีเหตุผลเพียงเพื่อเอาหน้าไว้ พอรับงานมาแล้วก็ลำบาก ทั้งตนเอง และลูกน้อง สูญเสียทรัพยากรของหน่วยไปไม่รู้เท่าใด แล้วในที่สุดก็ทำงานนั้นไม่สำเร็จ ก็ไปลงกับผู้ใต้บังคับบัญชา ว่าไม่มีคุณภาพ หรือไม่ให้ความร่วมมือ โดยไม่ทันดูว่าตนเองนั้นประเมินสถานการณ์ผิดพลาดหรือไม่ เรื่องทำนองนี้อาจเกิด ขึ้นได้แม้กับผู้มีความรู้สูง ๆ โดยเฉพาะพวกที่คิดว่าตนเองฉลาดกว่าผู้อื่น และมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง เข้าทำนองมีความรู้ แต่ขาดปัญญา
ในการทำงานนั้นถ้าประเมินกำลังของตนอย่างถูกต้อง มีเป้าหมายของงานชัดเจนไม่สับสน ก็สามารถทำงานนั้น ๆ บรรลุ เป้าหมายอย่างง่ายดาย เปรียบประดุจ ดังการรวมพลังของฝ่ายเราเข้าโจมตีข้าศึกที่วางกำลังไว้อย่างกระจัดกระจาย จึงเสมือน กับว่าเรามีกำลังมากเข้าโจมตีกำลังน้อย จึงได้ชัยชนะที่ไม่ลำบากนัก
ในการทำงานที่ขาดการวางแผนและขาดการประเมินขีดความสามารถที่ดี ไม่เข้าใจเนื้อหาและประเด็นของงาน หรือ อย่างเลวร้ายคือหลงภารกิจ ไม่เข้าใจว่า งานที่ตนเองรับผิดชอบคืออะไร มัวมุ่งไปทำแต่สิ่งที่ไม่ใช่เนื้อแท้ของงาน เปรียบไป แล้วก็เสมือนแม่ทัพที่ไม่รู้สมรภูมิของตน ย่อมนำลูกน้องทั้งหน่วยหลงทางลงเหวไปด้วย เสมือนดังที่ซุนวูว่า ไม่รู้สมรภูมิ และวัน เวลาเข้าทำการรบ ปีกซ้าย ปีกขวา ก็ไม่อาจสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ ดังนี้แล้ว หน่วยนั้น ๆ ก็คงไม่อาจบรรลุภารกิจที่กำหนด ให้รับผิดชอบได้ ตัวอย่างเช่น หน่วยที่ทำงานรับผิดชอบทางวิชาการ แต่ไปฝักใฝ่อยู่แต่ในเรื่องการบันเทิง หรือร้องรำ ทำเพลง อยู่ ดังนี้เป็นต้น ภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายคงไม่ประสบความสำเร็จไปได้ มืออาชีพจึงต้องรู้จักแสวงหาความรู้ และ ประสบการณ์ในการทำงานในทุกแง่มุม สามารถแก้ปัญหางานในความรับผิดชอบได้ทุกรูปแบบ ทำได้ดังนี้จึงเปรียบเสมือน ขุนพล ผู้หยั่งรู้รูปแบบการวางกำลังและกลยุทธ์ของข้าศึก รู้ส่วนขาดและส่วนเกินของข้าศึก จึงสามารถต่อกรกับข้าศึกได้ ในทุก สถานการณ์ ฉะนี้แล้วจึงถือว่าเป็นเลิศใน สมรภูมิการทำงานหรือ ไร้รูปแบบตายตัวในการแก้ปัญหางาน จะยากง่ายเพียงใด เขาจึงรับมือได้เสมอ
ที่ซุนวูกล่าวว่าเมื่อพิเคราะห์การจัดวางกำลังข้าศึกแล้ว ก็อาจทุ่มกำลังที่เหนือกว่าเข้าต่อสู้จนชนะ... แต่ก็ไม่อาจหยั่งรู้ รูปลักษณ์ ที่เป็นตัวควบคุมชัยชนะนั้น...หมายถึง ว่าแม้เราจะมีการเตรียมการและศึกษาเกี่ยวกับการงานเป็นอย่างดี จนมั่นใจ ว่าจะแก้ปัญหาได้เสมอก็ตาม แต่เราก็ไม่อาจล่วงรู้ลักษณะเฉพาะของปัญหาของการงานที่ต้องเผชิญในแต่ละคราวได้ จึงต้องใช้ไหวพริบกับปัญญา ในการแก้ปัญหาที่เปลี่ยนรูปแบบไปไม่รู้จักจบสิ้น
ซุนวูเปรียบในวรรคสุดท้ายว่า ผู้ที่รู้จัก พลิกแพลงแก้ปัญหาการงาน หรือการรบได้ตามสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไป จึงถือว่าเป็นผู้ที่ล้ำเลิศ ซึ่งการทำงานของเขาเหมือนกับน้ำที่ไหลจากที่สูงลงต่ำ ลัดเลาะเลี่ยงสิ่งกีดขวางหรืออุปสรรค เปลี่ยน รูปลักษณ์ไปตามภูมิประเทศ หรือ พลิกแพลงการทำงานไปตามสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไร้รูปแบบตายตัว จึงถือว่า เป็นผู้ล้ำลึกในการปรับตัวให้เข้าสถานการณ์เหมือนดังฤดูกาลที่หมุนเวียน เปลี่ยนไป หรือแสงตะวันที่สั้นบ้างยาวบ้าง หรือ เหมือนดวงจันทร์ที่เปลี่ยนดิถีไปในแต่ละวัน
ตอนที่ ๗ การเข้าทำการรบ
ซุนวูกล่าวว่า :
กล่าวโดยทั่วไปยุทธศาสตร์การใช้กำลังทหารเป็นดังนี้ คือ ขุนพลรับบัญชาจากผู้ปกครอง รวบรวมไพร่พล และยุทธภัณฑ์ และเคลื่อนทัพไปประจัญหน้าข้าศึก ในการนี้ไม่มีสิ่งใดยากไปกว่าการเข้าทำการรบ ในปฏิบัติ การรบนั้น สิ่งที่ยากที่สุดคือ การเปลี่ยนคดให้เป็นตรง เปลี่ยนโทษให้เป็นคุณ
ถ้าฝ่ายเราทำให้ข้าศึกใช้เส้นทางวกวน และล่อด้วยผลประโยชน์ ทำได้ดังนี้แล้ว แม้ออกเดินทางไปสมรภูมิ หลังข้าศึกก็ถึงก่อนข้าศึกผลดังนี้เกิดขึ้นได้ก็จากความรอบรู้ในกลยุทธ์คด และตรง
ดังนี้แล้วสิ่งที่ทำให้เกิดข้อได้เปรียบในการรบ อาจนำมาซึ่งอันตรายได้เช่นกัน คือถ้ายกกองทัพไปเต็มรูปแบบ ให้คงความได้เปรียบในการรบเหนือข้าศึกก็ไปถึงสมรภูมิไม่ทันกาล ถ้าทิ้งสัมภาระและอาวุธหนักไว้เบื้องหลังเพื่อ ให้กองทัพเคลื่อนที่ด้วยความคล่องตัวอาจถูกข้าศึกช่วงชิงสัมภาระต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ถ้าฝ่ายเราละทิ้งเสื้อเกราะ และอาวุธหนัก รีบเร่งเดินทางทั้งวันทั้งคืนโดยไม่หยุด พักได้ ระยะทางเป็นสองเท่าของช่วงเวลาเดินทางปกติ เพื่อให้ระยะทางล้ำหน้าฝ่ายข้าศึก ถึงร้อยโยชน์ ดังนี้แล้ว แม่ทัพทั้งสามเหล่าจักถูกจับเป็นเชลย เนื่องจากผู้เข้มแข็ง จะเดินทางถึงก่อน ผู้หมดเรี่ยวแรงจะ ถูกทอดทิ้งไว้เบื้อง หลังถ้าใช้กลยุทธ์ตามที่กล่าวนี้ มีกำลังพลเพียงหนึ่งในสิบที่ถึงสมรภูมิ ถ้าเดินทางล้ำหน้าข้าศึกห้าสิบโยชน์ เป็น เหตุให้แม่ทัพหน้าละล้าละลังดังนี้แล้วกำลังพลเพียงครึ่งเดียว ที่ถึงสมรภูมิถ้าเดินทางล้ำหน้าข้าศึกสามสิบโยชน์ กำลังพลเพียงสองในสามที่ถึงที่หมาย
ฉะนั้นถ้ากองทัพขาดสัมภาระและอาวุธหนักจะประสบความสูญเสีย ถ้าขาด ยุทธปัจจัยก็จะประสบความ สูญเสีย และถ้าขาดเสบียงก็จะประสบความสูญเสีย
เมื่อไม่ทราบนโยบายของเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ย่อมไม่สามารถรวบรวมพันธมิตรไว้ล่วงหน้า ผู้ไม่คุ้นเคยกับ ทิวเขา ป่า โตรก พื้นดิน พรุ และที่ลุ่ม ย่อมไม่สามารถเคลื่อนทัพได้ ผู้ไม่ใช้คนพื้นเมือง นำทาง ย่อมไม่อาจใช้สภาพ ภูมิประเทศ ให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายตน
กองทัพมีชัยได้โดยใช้กลลวง เคลื่อนทัพเมื่อเป็นฝ่ายได้เปรียบ รวมหรือกระจายกำลังตามการเปลี่ยนแปลง ของฝ่ายข้าศึกฉะนั้นเมื่อเคลื่อนทัพ ให้ไวดุจสายลมเมื่ออ้อยอิ่งให้เหมือนป่าชัฏ รุกให้เร็วดุจไฟลามทุ่งนิ่งให้ทะมึน เหมือน ขุนเขา เมื่อซ่อนเร้นดุจอยู่ในความมืด เมื่อโจมตีไวประหนึ่งสายฟ้าฟาด
เมื่อยึดทรัพย์สินได้แบ่งปันกับไพร่พล ยึดดินแดนได้พึงจัดสรรผลประโยชน์ ควบคุมสมดุลแห่งอำนาจทาง ยุทธศาสตร์ และการเคลื่อนทัพ ขุนพลที่เข้าใจ ในเบื้องแ
หลักการบริหารกองทัพกล่าวว่า เมื่อไม่อาจได้ยินเสียงซึ่งกันและกันให้ใช้ ฆ้อง กลอง เมื่อไม่อาจเห็นกันให้ใช้ ธงทิว ฆ้อง กลอง และธงทิวคือศูนย์รวมหูตาของไพร่พล เมื่อไพร่พลรวมเป็นหนึ่ง ผู้กล้าก็ ไม่อาจรุกได้โดยลำพัง ผู้ขลาดกลัวก็ไม่อาจถอยโดยลำพัง นี้คือวิธีการใช้คนจำนวนมากเข้าทำการรบ
รบยามค่ำคืนให้โชติช่วงด้วยแสงไฟ และอึกทึกด้วยเสียงกลอง รบยามกลางวันให้พริ้วไสวด้วยธงทิว ดังนี้จึง เป็นประหนึ่ง หูตาของไพร่พล
กองทัพอาจเสียขวัญ ขุนพลอาจท้อถอย ดังนั้นไพร่พลจะฮึกเหิมในยามเช้า อิดโรยช่วงกลางวัน หมดขวัญ กำลังใจในยามเย็น ผู้เป็นเลิศในการใช้กำลังทหารจึงหลีกเลี่ยงการเข้าโจมตีขณะข้าศึก ฮึกเหิม เข้าโจมตีขณะ ข้าศึกอิดโรย และขวัญกำลังใจตกต่ำ เหล่านี้คือ การใช้หลักของขวัญกำลังใจในการรบ ใช้ความเป็นระเบียบรอความ สับสนใช้ความสงบรอความอึกทึก นี่คือ วิถีแห่งการควบคุมสมาธิ ใช้ใกล้ รอไกล พักรออ่อนล้า อิ่มรอหิว นี่คือวิถีแห่งการควบคุมความเข้มแข็ง
อย่าสกัดกองทัพที่ธงทิวปลิวไสว อย่าโจมตีกองทหารที่อยู่ในรูปกระบวนรบเป็นอย่างดี นี่คือ วิถีแห่งการ ควบคุมความเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของการใช้กำลังทหาร คือ เขาสูงอย่าบุก อิงเนินอย่ารุก แสร้งถอยอย่าตาม แข็งแกร่งอย่า โจมตี เหยื่อล่ออย่ากลืน ถอยคืนถิ่นอย่าขวาง ล้อมไว้ให้เปิดทาง อย่ากดดันให้จนตรอก เหล่านี้คือ ยุทธศาสตร์ของ การใช้ กำลังทหาร
วิเคราะห์
หลักการยุทธศาสตร์ในการใช้กำลังทหารในวรรคแรกที่ว่า ขุนพลรับบัญชา รวมไพร่พล และยุทธภัณฑ์ และ เข้ารบนั้นอนุโลมกับการทำงานก็เช่นเดียวกันคือหัวหน้างาน ไม่ว่าจะเป็น กรม กอง หรือแผนก หรือหัวหน้าระดับ ต่าง ๆ ในบริษัท รับงานชิ้นหนึ่งมาจากผู้บังคับบัญชาชั้นสูงกว่า จากนั้นนำเอาเป้าหมายของงานนั้นมาวิเคราะห์ว่า จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็นเท่าใด ทำนองเดียวกับการรวบรวมอาวุธยุทธภัณฑ์ และกำลัง เมื่อเตรียม การพร้อมแล้วก็เคลื่อนทัพเข้าสู่สมรภูมิ คือ เข้าทำงานนั้นนั่นเอง ในส่วนนี้ที่ซุนวูว่า ยากที่สุด คือ การเปลี่ยนคด ให้ตรง เปลี่ยนโทษเป็นคุณนั้น หมายถึงการ แก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นในการทำงานให้คลี่คลาย ทำให้ งานดำเนินไปด้วยดีจนบรรลุเป้าหมายของงานที่ได้ รับมอบมาให้ทำ ซึ่งการนี้ ผู้ไม่มีหัวคิด พลิกแพลงแก้ไขสถาน การณ์ตามความซับซ้อนของงานที่เกิดขึ้นย่อมประสบ ความยากลำบากจนถึงอาจไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้
ดังนี้แล้ว ผู้ที่มีความรู้กอปรกับ ไหวพริบและเชาว์ปัญญา ย่อมสามารถ ทำงานที่ยากให้กลายเป็นง่าย วิเคราะห์ปัญหาและวิธีแก้ปัญหาในการทำงานได้อย่างแจ่มแจ้งตรงประเด็น ผู้มีความสามารถดังที่กล่าวนี้เมื่อ เริ่มทำงานใด ๆ เขาจึงไม่รีบร้อนบุ่มบ่าม แต่ใช้เวลา พอสมควรในการรวบรวมข้อมูลก่อน จนครบถ้วน เมื่อไตร่ตรอง โดยรอบคอบ แล้วก็ตัดสินใจทำงานจนบรรลุวัตถุประสงค์อย่างราบรื่น เปรียบดังแม่ทัพที่มีการ เตรียมการและ วางแผนการรบอย่างรอบคอบ ที่อาจดูเหมือนเริ่มออกเดินทัพหลังข้าศึก แต่ก็ไปถึงสมรภูมิก่อนข้าศึก คือทำงาน ได้สำเร็จเสมอ
ในข้อที่ว่า สิ่งใดที่ทำให้เกิดข้อ ได้เปรียบในการรบ ก็อาจนำมาซึ่งอันตรายได้เช่นกัน เปรียบเทียบได้กับสุภาษิต คำพังเพยของไทยว่า ดาบสองคม ซึ่งถ้าใช้โดยขาดความรอบคอบแล้ว ไม่เพียงแต่ ทำอันตรายให้แก่ศัตรูเท่านั้น อาจกลับมาทำให้ผู้ใช้ดาบนั้นได้รับบาดเจ็บอีกด้วย เมื่อนำประเด็นนี้มาเปรียบเทียบกับการ ทำงานแล้ว สิ่งที่ทำ ให้เกิดทั้งข้อได้เปรียบ ในการทำงาน และอาจทำให้งานนั้นเกิดปัญหาด้วยเช่นกัน ก็คือ การตั้งสมมุติฐาน ในการ ทำงานนั่นเอง สมมุติฐานคือสิ่งที่ นำมาใช้ทดแทนข้อมูลที่ขาดหายไป ในการทำงานใด ๆ การขาดหายของข้อมูล ในส่วนที่นำเอาสมมุติฐานมาใช้แทนนี้ อาจเกิด จากปัจจัยทางนามธรรม ที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้ เช่นความรู้สึกนึกคิด หรือความร่วมมือของบุคคล ตัวอย่างกรณีที่จะยกมาให้เห็นชัด ๆ ดังนี้ บริษัทแห่งหนึ่งมีโครงการที่จะกู้เงินจาก ธนาคารจำนวนนับร้อยล้านบาท เพื่อนำมาสร้างศูนย์ซ่อมรถยนต์ในที่ดินเปล่าของบริษัทซึ่งทิ้งไว้ ไม่ได้ใช้ ประโยชน์ใด ๆ มาเป็นเวลานับสิบปี เนื่องจากอยู่ในทำเลห่างไกลความเจริญ แต่สภาพปัจจุบัน จากการศึกษา พบว่า พื้นที่ดังกล่าวเหมาะสมที่จะทำกิจการศูนย์ซ่อมรถยนต์อย่างยิ่ง โดยพิจารณาจากสภาพความเจริญของ ชุมชนในบริเวณนั้น และอัตราการถือครองรถยนต์ส่วนบุคคลจำนวนมาก โครงการนี้แม้ดูดีและน่าจะให้ผลกำไร ที่สูงแก่บริษัท แต่ที่ดินดังกล่าวก็ติดปัญหาอยู่ประการหนึ่ง คือ มีประชาชนเข้าไปจับจองสร้างที่พักอาศัยทั้ง ในลักษณะชั่วคราว และกึ่งถาวรอยู่หลายหลังคาเรือน โดยที่บริษัทไม่ทราบ มาก่อน ประธานบริษัทซึ่งอยู่ในฐานะ เหมือนขุนพลต้องตัดสินใจว่า จะเดินหน้า กู้เงินธนาคารมาดำเนินการโครงการนี้ต่อไป โดยตั้งสมมุติฐาน ว่าชาวบ้านผู้รุกล้ำที่ดิน จะยอมย้ายออกทั้งหมดโดยดี หรือมิฉะนั้นถ้ามีการฟ้องร้องขับไล่กันแล้ว ทางบริษัท ก็ต้องชนะคดีได้ที่ดินคืนในที่สุด สมมุติฐาน ที่กล่าวนี้ นับเป็นประโยชน์ คือทำให้ โครงการนี้ดำเนินไปได้ ไม่หยุด ชะงัก แต่ก็อาจเป็นโทษได้เช่นกัน ถ้าผลสุดท้ายแล้ว ชาวบ้านชนะคดีได้สิทธิครอบครองที่ดินต่อไป ในขณะที่บริษัท ก็ได้เสนอโครงการแก่ธนาคารและกู้ยืมเงินมาเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถทำโครงการต่อไปได้ ผลร้ายก็ ตกอยู่ กับบริษัท แต่ถ้าบริษัทรอจนคดี สิ้นสุดให้แน่ใจว่าได้ที่ดินคืนแน่นอนแล้ว จึงเริ่มทำโครงการนี้ อาจต้องใช้เวลายาว นานในการต่อสู้คดี ซึ่งถึงแม้จะแน่นอนในการบรรลุวัตถุประสงค์ แต่ก็อาจไม่ทันกาลตามสถานการณ์แวดล้อม ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา
ที่ยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้นก็เหมือนกับที่ซุนวูกล่าวว่า ยกทัพไปเต็มรูปแบบ ก็ไปถึงสมรภูมิไม่ทันกาลทิ้ง สัมภาระ ให้คล่องตัว เพื่อให้เคลื่อนที่ได้เร็ว ก็อาจถูกข้าศึกนำไปใช้ประโยชน์ ฉะนั้นในการ ทำงานใด ๆ ถ้าเอาใจ ใส่ลงในรายละเอียดปลีกย่อย ในทุกประเด็น เพื่อป้องกัน ความผิดพลาด งานก็เดินไปได้ช้าจนแม้บรรลุ วัตถุ ประสงค์ได้ แต่ก็อาจไม่ทันกาล แต่ถ้าละทิ้งรายละเอียดหรือ ใช้การตั้งสมมุติฐานเพื่อให้งานเร็วขึ้นแล้วงานก็อาจ ล้มเหลวได้ในบั้นปลาย หัวหน้างานหรือขุนพล จึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีในการ ทำงาน เพราะถ้ารายละเอียดมากไป งานก็จะช้าเสมือนการยกทัพที่ขนเอาอาวุธ ยุทธภัณฑ์ และสัมภาระไปทั้งหมด ก็ เทอะทะอุ้ยอ้าย ถ้าละทิ้ง รายละเอียดหรือตั้งสมมุติฐานมากเกินไป งานก็ไปได้เร็วเสมือนกับการทิ้งสัมภาระบางส่วนไว้เบื้องหลัง เพื่อให้ ้เคลื่อนทัพได้ไว แต่ภารกิจก็อาจ ล้มเหลว ในบั้นปลายก็เป็นได้ การทำงาน จึงต้องให้มีรายละเอียดที่จำเป็น พอเพียงไม่มากหรือน้อยเกินไป จึงจะทำงานได้ประสบความสำเร็จและทันเวลา เหมือน ดังที่ซุนวูกล่าวพอสรุป ได้ว่า ในการทัพนั้น จะขาดทั้งเสบียง ยุทธปัจจัย และอาวุธ อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย แต่ถ้านำเอา สิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือทุก ๆ สิ่งไปมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดความละล้าละลังถึงที่หมาย ไม่ทั้งหมด หรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ของ งานโดยสมบูรณ์
ที่ซุนวูกล่าวว่า เมื่อไม่ทราบนโยบายของเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ย่อม ไม่สามารถรวบรวมพันธมิตรไว้ล่วงหน้า เจ้าผู้ครองนครในที่นี้หมายถึง หน่วย ข้างเคียงที่หัวหน้างานในสำนักงาน หรือบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ต้องขอรับการ สนับสนุน อันเปรียบเสมือนพันธมิตรในสมรภูมิการ ทำงาน การจะได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยข้างเคียงหรือ บุคคลอื่น ๆ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ ทั้งในเชิงอาชีพและส่วนตัว ถ้าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแล้วย่อมได้รับ การ ช่วยเหลือ การจะเป็นเช่นนี้ได้ต้องอาศัยการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น เสมือนกับมีการติดต่อทางการ ทูต กับรัฐอื่น มิใช่เก็บตัวอยู่ในโลกของตัวเองไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ไม่ให้ความช่วยเหลือใคร ซึ่งถ้า เป็นดังนี้แล้วเมื่อมีงาน ใด ๆ คงไม่อาจ หาพันธมิตรมาช่วยทำงานได้ เปรียบเสมือนการไม่ทราบนโยบายของเจ้าผู้ครองนคร ต่าง ๆ นั่นเอง
สำหรับคำกล่าวที่ว่า ผู้ไม่คุ้นเคยกับทิวเขา ป่าโตรกพื้นดินพรุ และที่ลุ่ม ย่อมไม่สามารถเคลื่อนทัพได้ และ ผู้ไม่ ใช้คนพื้นเมืองนำทาง ย่อมไม่อาจใช้สภาพ ภูมิประเทศให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายตน เมื่อเปรียบเทียบกับการ ทำงาน หมายถึง คนที่ไม่เข้าใจกับงานที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ เปรียบเสมือนหัวหน้างาน ที่ได้รับ มอบหมายงานที่ตน ไม่คุ้น เคย เช่นผู้จัดการฝ่ายหนึ่ง ถูกสับเปลี่ยนงานให้ไปรับผิดชอบกับงาน อีกฝ่ายหนึ่ง ถึงแม้จะรู้อยู่เลา ๆ ว่างานที่รับ ผิดชอบใหม่เป็นอย่างไร แต่ก็ไม่เข้าใจ ลึกซึ้ง ย่อมยังไม่สามารถสั่งการให้งานหน่วยนั้นได้เดินหน้าไปได้จนกว่าจะ ทำความคุ้นเคยกับงานใหม่เสียก่อน สภาพ เช่นนี้มักเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการหมุนเวียน เพื่อสับเปลี่ยนงาน โดย เฉพาะระดับบริหาร ทั้งในวงราชการและบริษัทห้างร้าน ที่มัก บ่นกันว่าเปลี่ยนหัวหน้าครั้งหนึ่งงานก็หยุด ชะงักไป พักหนึ่ง หรืออย่างร้ายก็ติดขัดไปทั้งปี หัวหน้างานใหม่จึงต้องรีบทำความเข้าใจ สิ่งที่ตนรับผิดชอบให้เร็วที่สุด ยังมีตัวช่วยอีกอย่างคือการหารือกับลูกน้อง หรือผู้อยู่ในหน่วยนั้นมานาน อันเปรียบเสมือนการใช้คนพื้นเมืองนำ ทางในสภาพภูมิประเทศที่ตนยังไม่คุ้นเคย แต่ถ้าหัวหน้างานเป็นผู้ถือดีแล้ว อาจไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ให้เป็น ประโยชน์ โดยคิดว่าการขอคำปรึกษาลูกน้อง ทำให้ เสียหน้า ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงแล้วผู้ใต้บังคับบัญชา คือ ผู้ที่ทางหน่วยงานจัดหามาเพื่อ ช่วยหัวหน้างานให้ทำงานลุล่วงไปได้ การปรึกษาหารือคนเหล่านียังทำให้ ลูกน้อง มีความภูมิใจด้วยซ้ำไป ที่ผู้บังคับบัญชา เห็นคุณค่าและความสำคัญของเขา จึงยินดีที่จะให้การสนับสนุนยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
คำกล่าวที่ว่า เคลื่อนทัพเมื่อเป็นฝ่ายได้เปรียบ รวมหรือกระจายกำลัง ตามการเปลี่ยนแปลง ของฝ่ายข้าศึก... ไวให้ดุจสายลม อ้อยอิ่งเหมือนป่าชัฏ หมายถึง การทำงานต้องพร้อมปรับตัวไปตามสถานการณ ์ของ ปัญหาที่ เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาในการทำงาน ไม่ใช่สักแต่ว่า ทำงานมะลื่อทื่อไปตลอด โดยไม่มีการปรับปรุง แก้ไข วิธี ีการตามสถานการณ์ที่ พลิกผันไปตลอดเวลา
การทำงานใด ๆ ให้ประสบความสำเร็จนั้น ไม่อาจเป็นไปได้โดยตัวหัวหน้างาน หรือขุนพลผู้นำทัพ เพียง คนเดียว แต่ต้องอาศัยผู้ใต้บังคับบัญชาคอยช่วยเหลือสนับสนุนงานจึงลุล่วงไปได้ เมื่องานสำเร็จ ก็เป็นเวลา ของ การให้รางวัล คือการได้รับบำเหน็จพิเศษหรือเลื่อนยศเลื่อนขั้น ผู้เป็นหัวหน้างานหรือขุนพล ย่อมทำการ จัด สรร รางวัลเหล่านี้อย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เอาความดีความชอบไว้ของตัวคนเดียว เปรียบเสมือนการยึดทรัพย์สินได้ ต้อง แบ่งปันกับไพร่พล ยึดดินแดนได้จัดสรร ผลประโยชน์นั้นเอง ถ้าทำได้ดังนี้ลูกน้อง ก็จะจงรัก ภักด ีและ ทุ่มเท ทำงานให้เสมอ แต่ถ้าตัวหัวหน้าหรือขุนพลเอาแต่ความดีความชอบเป็นของตัวโดยไม่คิดแบ่งปัน ผู้ใต้บังคับบัญชา แล้ว จะไม่ได้รับการ ยอมรับนับถือ ซ้ำยังถูกดูหมิ่นดูแคลน เมื่อพ้นจากอำนาจไปแล้วก็ไม่มีใครต้อนรับ ต้องอยู่ อย่างเดียวดายว้าเหว่ และนี่คือหลักแห่งการครองใจคนในการทำงาน
ตามที่ซุนวูกล่าวว่า เมื่อไม่ได้ยินเสียงกัน ให้ใช้ฆ้องกลอง ไม่เห็นกัน ให้ใช้ ธงทิวเปรียบเทียบกับการทำงาน ก็ คือการสื่อสารนั่นเอง ในอดีตกาลนั้นเมื่อ ยังไม่มีเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยดังเช่นปัจจุบัน แม่ทัพสั่งให ้ปฏิบัต ิการ รบในกองกำลัง ขนาดใหญ่ด้วยการใช้ฆ้องกลอง ธงทิว หรือประทีปโคมไฟในการส่งสัญญาณคำสั่ง โดยวิธีนี้ ทั้ง กองทัพก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เข้าตีพร้อมกัน ถอยพร้อมเพรียงกันอย่าง ไม่สับสน ดังซุนวูกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้ ประดุจดังศูนย์รวมหูตาของไพร่พล ในปัจจุบันนี้เครื่องมือสื่อสารที่หัวหน้างานใช้สั่งการ หรือติดต่อประสานงาน มีมากกว่า ธงทิว ฆ้อง กลอง และโคมไฟ ดังเช่น โทรศัพท์ โทรสาร หรือ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขุนพล หรือหัวหน้างานยุคใหม่ จึงต้องฝึกฝนใช้เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ให้เกิดประสิทธิผล เช่นเดียวกับที่ขุนพลในยุค โบราณเคยใช้ฆ้อง กลอง ธงทิว และโคมไฟในการสั่งการ ไพร่พลเข้าทำการรบอย่างได้ผลมาแล้ว
ส่วนสุดท้ายของบทนี้เป็นส่วนที่ซุน วูกล่าวถึงจิตวิทยามวลชน เพื่อเข้าทำการรบล้วน ๆ กล่าวคือในการรบ หรือ การทำงานใด ๆ นั้นปุถุชนคนธรรมดาไม่ว่าจะอยู่ในฐานะสูงต่ำเพียงใดย่อมมีช่วงเวลา ของความ กระปรี้กระเปร่า หดหู่ หรือท้อถอยในการรบหรือการทำงานเสมอ หัวหน้างานจึงต้องประเมินสภาพจิตใจของลูกน้อง อยู่เสมอ อย่า ใช้วิธีบีบคั้นเอาแต่งานโดย ไม่คิดถึงสภาพจิตใจของเขาในขณะนั้น เช่น ลูกน้องที่อยู่ในสภาพหดหู่ อาจม ีปัญหา ทางครอบครัวเช่น ภรรยา สามี หรือลูกป่วยไข้ ลูกน้องที่สติลอยหรืออิดโรยอาจ ยังไม่ได้ รับประทานอาหาร เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นหัวหน้างานจะต้องจับตาดูพฤติกรรม ดังกล่าวเหล่านี้ สอบถาม ให้กำลังใจ หรือ ช่วยเหลือ ตามกำลัง ไม่ใช่สักแต่ว่าเคี่ยวเข็ญให้ทำงาน โดยไม่คำนึงถึงสภาพจิตใจ เพราะอาจได้งานไม่คุ้มเสีย เปรียบ โดย อุปมา เหมือนที่ซุนวูกล่าวว่า หลีกเลี่ยงการ โจมตีขณะข้าศึกฮึกเหิม...ใช้ระเบียบ รอความสับสน สงบรอ ความ อึก ทึกใกล้ รอไกล พักรออ่อนล้า อิ่มรอหิว
ผู้เป็นหัวหน้างานที่สามารถจึงต้องมีจิตวิทยา มีสมาธิ มีสุขภาพแข็งแรง มีสติปัญญาในการแก้ไขสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไป รู้จักผ่อนสั้น ผ่อนยาว จึงจะทำงานได้ประสบความสำเร็จ เหมือนดัง ที่ซุน วูสรุป ไว ้ใน วรรค สุดท้ายโดยอุปมาว่า เขาสูงอย่าบุก อิงเนินอย่ารุก แสร้งถอยอย่าตาม แข็งแกร่งอย่าโจมตี เหยื่อล่อ อย่ากลืน คืน ถิ่นอย่าขวาง ล้อมไว้ให้ เปิดทาง อย่ากดดันให้จนตรอก
สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับการเรียนรู้ คือใจที่เปิดกว้าง
ตอนที่ ๘ ความเปลี่ยนแปลงเก้าประการ
ซุนวูกล่าวว่า :
กล่าวโดยทั่วไปยุทธศาสตร์การใช้กำลังทหารเป็นดังนี้ คือ ขุนพลรับบัญชา
จากผู้ปกครองรวบรวมไพร่พล และอาวุธยุทธภัณฑ์ และเมื่อเข้าทำการรบ
- ไม่ตั้งค่ายในภูมิประเทศล่อแหลม
- หาพันธมิตรร่วมรบ ในภูมิประเทศที่ต้องรบแตกหัก
- อย่าวางกำลังในพื้นที่โดดเดี่ยว
- วางแผนยุทธศาสตร์ไว้สำหรับภูมิประเทศปิดล้อม
- พื้นที่มรณะต้องสู้สุดกำลัง
- พึงหลีกเลี่ยงเส้นทางบางสาย
- ละเว้นไม่โจมตีบางกองทัพ
- ไม่เข้าตีเมืองบางเมือง
- ไม่ยึดบางชัยภูมิ และ
ขณะการรบกำลังดำเนินไป ขุนพลอาจไม่รับบางบัญชาจากผู้ปกครอง
ขุนพลผู้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงการใช้ความเปลี่ยนแปลงทั้งเก้าให้เป็นข้อได้เปรียบ
จึงเป็นผู้เข้าใจการศึก สำหรับขุนพลผู้ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงการใช้ความเปลี่ยน แปลงเก้าประการให้เป็นข้อได้เปรียบ แม้จะรู้จักคุ้นเคยกับภูมิประเทศก็มิอาจ ตระหนักถึงการใช้ภูมิประเทศให้เป็นข้อได้เปรียบผู้บังคับบัญชา ทหาร ซึ่ง ไม่เข้าใจ ถึงการใช้ความเปลี่ยนแปลงเก้าประการ ให้เป็นประโยชน์นั้น แม้จะ
ร ู้การใช้ ข้อได้เปรียบถึงห้าประการ ก็มิอาจนำทัพได้ด้วยเหต ุดังกล่าว ขุนพล ที่เฉลียวฉลาดต้องคิดไตร่ตรองถึงผลได้ผลเสีย
ถ้ามองเห็นข้อได้เปรียบในสภาวะคับขัน ก็จะได้รับชัยชนะ ถ้ามองเห็น อันตรายในสภาวะเป็นต่อ ก็สามารถขจัดความยุ่งยากดังนั้น ข่มขู่ข้าศึกโดย
สำแดงภัย ให้เห็น ทำข้าศึกให้เหนื่อยล้าโดยสร้างปัญหาหลายๆ ทาง และ หลอกล่อ ข้าศึกด้วยผลประโยชน์ยุทธศาสตร์การใช้กำลังทหารจึง เป็นดังนี้ คือ อย่า คิดว่าข้าศึกจะไม่ก่อสงคราม จงเตรียมรบให้พร้อมอยู่เสมอ อย่าคิดว่าข้าศึก
จะไม่เข้าโจมตี จงเตรียมพร้อมรับมือไว้เสมอ ขุนพลทั้งหลายมีอันตราย อยู่
ห้าประการ อันเกิดจากลักษณะนิสัยของตนเอง
- ขุนพลที่มุทะลุ จะถูกสังหาร
- ขุนพลที่ขี้ขลาด จะถูกจับเป็นเชลย
- ขุนพลที่ลุแก่โทสะง่าย จะถูกหยามให้ขาดสติ
- ขุนพลที่ยึดมั่นในกฎระเบียบ และเกียรติ จะถูกยั่วให้อับอาย
- ขุนพลที่ใจอ่อน จะประสบความยุ่งยาก
อันตรายทั้งห้าประการนี้ ถ้ามีมาก เกินไป ในขุนพล ของกองทัพใด ย่อม นำหายนะมาสู่กองทัพ โดยกองทัพถูกทำลาย ขุนพลสิ้นชีพ ดังนั้นต้องมีการพิเคราะห์อันตรายทั้งห้านี้อย่างถี่ถ้วน
วิเคราะห์
ในบทที่ ๘ นี้ ซุนวูได้แจกแจงถึงการสู้รบในภูมิประเทศ หรือ ยุทธภูมิ
ที่ หลากหลาย เก้าลักษณะ ซึ่งขุนพลผู้นำกองทัพต้อง ประสบ และต้อง พิจารณา ไตร่ตรองในการใช้ภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะดำเนินการรบนี้ให้เกิด
ประโยชน์แก่ตน มากที่สุด และในขณะที่การรบกำลังติดพันนั้น ขุนพล ไม่จำเป็นต้องรับบางบัญชาจาก ผู้ปกครองของตนเมื่อนำการเปลี่ยนแปลงทั้งเก้า ลักษณะของยุทธภูมิ ตามที่ซุนวูกล่าวไว้ มาเปรียบเทียบกับการทำงานใด ๆ โดย อนุโลม เปรียบเสมือนความหลากหลาย ของปัญหางานในความรับผิดชอบ ที่ขุนพล หรือหัวหน้างานต้องเผชิญกันอยู่ทุกเมื่อ เชื่อวัน และต้องใช้ไหวพริบ ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ให้ลุล่วงไปจนงานได้รับผลสำเร็จในที่สุด
เมื่อนำการเปลี่ยนแปลงทั้งเก้า ลักษณะของยุทธภูมิ ตามที่ซุนวูกล่าวไว้ มาเปรียบเทียบกับการทำงานใด ๆ โดย อนุโลม เปรียบเสมือนความหลากหลาย ของปัญหางานในความรับผิดชอบ ที่ขุนพล หรือหัว หน้างาน ต้องเผชิญ กันอยู่ ทุกเมื่อ เชื่อวัน และต้องใช้ไหวพริบในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ให้ลุล่วงไป จนงานได้รับ ผลสำเร็จในที่สุดว่าเมื่อเข้าทำการรบ ไม่ตั้งค่าย ใน ภูประเทศ ล่อแหลม ภูมิประเทศ ล่อแหลมในการสงคราม หมายถึง พื้นที่ซึ่งถูกโจมตีง่าย ยากแก่การป้องกันตนเอง เช่น ที่เปิดโล่งไร้ที่กำบัง เปรียบเทียบ กับการ ทำงาน ใด ๆ หมายถึง การทำงาน ในลักษณะที่ยอมให้มีความเสี่ยงมาก เกินไปในการ ที่งานนั้นอาจประสบกับ ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น ในช่วงก่อนปี พ.ศ.๒๕๔๐ ในขณะที่ ประเทศไทยอยู่ในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ ผู้พัฒนา อสังหาริมทรัพย์หลายรายได้ กู้ยืมเงินแบบเงินกู้ระยะสั้นมาลงทุนใน ธุรกิจ บ้านจัดสรร โดยคาดว่าจะขายบ้าน ในโครงการได้หมดก่อนวันครบกำหนด ชำระหนี้ แต่เมื่อประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจใน พ.ศ.๒๕๔๐ โดยไม่มีใครคาดฝันมาก่อน ทำให้ธุรกิจ บ้านจัดสรร เหล่านี้ ขาย ไม่ออก จนเห็นอาคารบ้านเรือนทิ้งร้างมากมายในปัจจุบัน เมื่อเกิดเหตุดังนี้ ผู้กู้หนี้ยืมสินระยะสั้น ที่ไม่สามารถส่งคืนเงินกู้ได้ตามกำหนด ก็ตกอยู่ใน สภาวะล้มละลาย เกิดหนี้เสียมากมาย การทำงานเช่นนี้ก็อยู่ในลักษณะ ตั้งค่ายในภูมิประเทศล่อแหลมที่ว่า หาพันธมิตรร่วมรบ ในภูมิประเทศ ที่ ต้อง รบแตกหัก ข้อความนี้เห็นได้ชัดในขณะที่ สหรัฐ ฯ กำลังทำสงคราม
สหรัฐ ฯ - อิรัก ครั้งที่ ๒ ที่อ่าวเปอร์เซีย เนื่องจากสหรัฐ ฯ รู้ว่าถ้าไม่ชนะสงคราม กับอิรักครั้งนี้แล้ว ความเชื่อถือหรือความ น่าเกรงขามของสหรัฐ ฯ ที่มีต่อ ประชาคมโลกจะต้องสูญเสียไป การรบครั้งนี้จึงต้องเป็นการรบที่ต้องแตกหัก คือ ชนะอย่างเดียว สหรัฐ ฯ ต้องรวมพันธมิตร หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ลูกสมุน ให้มาก ที่สุด สนับสนุนแก่ตน ไม่ว่าทางตรง ทางอ้อม หรือทางหลบ ๆ ซ่อนๆ เพื่อ ให้ ้แน่ใจและมั่นใจว่าจะได้รับ ชัยชนะต่ออิรัก ประเด็นนี้เมื่อเปรียบเทียบกับการ
ทำงานแล้ว คือการทำงานที่ต้องบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน ไม่มี การประนีประนอมใด ๆ ทั้งสิ้น มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเกิดผลเสียหาย
ร้ายแรงกับหน่วยงาน นั้น สมมุติตัวอย่าง เช่น บริษัทดอกบัว ผู้ประกอบ การค้า
ปลีกรายมหึมา ได้ลงหลักปักฐานสร้างร้านค้าของตน ณ ตำบล ละลายทรัพย์
กิจการดำเนินไปด้วยดี เรียกว่าขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่แล้วต่อมา ก็มีผู้ประกอบการลักษณะเดียวกัน คือบริษัทกลางใหญ่มาลงทุน ทำธุรกิจ อยู่
ใกล้เคียง ทำให้ยอดขายของบริษัทดอกบัวลดลงไปจนใกล้ถึงจุดไม่มีกำไร และคาดว่าต้องม้วนเสื่อเลิกกิจการในที่สุดผู้จัดการบริษัทดอกบัวพิจารณาดู แล้ว
เห็นว่าศึกค้าปลีกครั้งนี้ จำต้องสู้กันถึงขั้นแตกหัก เพื่อความอยู่รอดของตน แต่สู้กันซึ่งหน้า คือ แข่งกันขายเช่นที่เป็นอยู่เห็นทีจะสู้ไม่ได้ จำต้องหา พันธมิตร คือบรรดาผ ู้ส่งสินค้า ทั้งหลาย ขอร้อง ไม่ให้ส่งสินค้า ชนิดเดียวกัน ให้กับบริษัทกลางใหญ ่ โดยมีการตอบแทนเป็นผลประโยชน์บางประการ ในลักษณะเช่นนี้ถ้าบริษัทดอกบัวได้ผู้ส่งสินค้ามาเป็นพันธมิตรเพิ่มมากขึ้น
เท่าใด ในที่สุดบริษัทกลางใหญ่ก็ไม่อาจหาสินค้าที่จำเป็นมาให้บริการลูกค้า ที่ต้องการได้ บริษัทดอกบัว ก็จะได้รับชัยชนะขั้นแตกหักในที่สุด
อย่าวางกำลังในพื้นที่โดดเดี่ยพื้นที่โดดเดี่ยวในที่นี้มีความหมายเป็น
หลายนัย คือ เป็นพื้นที่โล่งแจ้ง กันดาร ขาดน้ำ และอาหาร ไม่มีสิ่งสนับสนุน
ทั้งปวงที่จำเป็น เปรียบเทียบกับการทำงานแล้วก็เสมือน กับการทำงานที่ขาด
แคลนทั้ง คน เงิน วัสดุอุปกรณ์ อันเป็นปัจจัยสำคัญของการบริหารและจัดการ
ซึ่งหัวหน้างานไม่ว่าระดับใด แม้จะมีฝีมือดีเพียงใดในด้าน การบริหาร ถ้าขาดซึ่งสิ่งที่กล่าวมาแล้ว ข้างต้น ก็คง ไม่อาจนำ งาน ที่ได้รับมอบหมาย ให้ ไปสู่เป้าหมายได้
สมมุติตัวอย่าง เช่น กิจการพิมพ์แห่งหนึ่งผู้จัดการใหญ่ของบริษัทได้กำหนด
นโยบายให้ปีพ.ศ.๒๕๔๖ เป็นปีแห่งความพร้อมให้บริการลูกค้า ทุกรูปแบบ ที่หัวหน้าทุกฝ่ายของบริษัท ต้องรับนโยบายไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ทั้ง ๆ ที่แท่นพิมพ์ก็เก่า การเรียงพิมพ์ ก็ยังเป็นแบบตัวตะกั่วหล่อ ยังไม่มีเครื่อง เรียง พิมพ์คอมพิวเตอร์ กระดาษพิมพ์ ไม่พอเพียง ดังนั้นเมื่อ นโยบายนี้ ประกาศ ออกไป บริษัทก็ได้รับคำร้องขอจากฝ่าย ต่าง ๆ ให้จัดหา คน เครื่องมือ และ วัสด ุอุปกรณ์เพิ่มเติม เพื่อสนองต่อนโยบาย ดังกล่าว แต่ได้รับ คำตอบ จาก ผู้จัดการใหญ่ว่า ให้ใช้การ บริหาร จัดการ กับปัจจัย เดิม ที่มีอยู่ให้บรรลุ ุวัตถุประสงค์ของนโยบาย ที่กำหนด ซึ่งลักษณะเช่นนี้คือการสร้างภาพหลอก ชาวบ้านไปวัน ๆ แม้จะฟังดูดีแต่ก็ไม่มี ผลจริงจังในทางปฏิบัติเป็นการกำหนด
นโยบายที่เสมือนกับ การวางกำลังในพื้นที่โดดเดี่ยวนั่นเอง
วางแผนยุทธศาสตร์ไว้สำหรับ ภูมิประเทศปิดล้อม ในการรบนั้น ภูมิประเทศ ที่ถูกปิดล้อม คือ บริเวณที่ ล้อมรอบด้วยอุปสรรค เช่น เขาสูง ทางน้ำ ป่าทึบ มีเส้นทางบังคับในการเดินทัพ และมีทางหนีทีไล่จำกัดแต่กระนั้น ก็จำเป็นที่ จะต้องเดินทัพผ่าน ซึ่งในบริเวณที่กล่าวนี้ การเดินทัพ จะเป็น ไปด้วย ความ เชื่องช้า ยากลำบาก ทั้งยังอาจถูกข้าศึกซุ่มโจมตีได้โดยง่าย จึง ไม่บังควร อยู่ ในภูมิประเทศ เหล่านี้ให้เนิ่นนาน และ ต้อง วางแผน ยุทธศาสตร์ ไว้รองรับ เหตุคับขันที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ความสูญเสียที่เกิดขึ้นมีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได ้ เมื่อเปรียบเทียบกับการ ทำงาน แล้วการอยู่ในภูมิประเทศที่ปิดล้อม หมายถึง สภาวะการทำงานที่ต้องจำยอมรับข้อจำกัดที่มีอยู่ เช่น บริษัทที่มีปริมาณงาน
เพิ่มมากขึ้น ๆ จนใกล้ถึงจุดอิ่มตัวที่จะให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องทำการปรับปรุงและขยายกิจการเพิ่ม
ขึ้น มีการจัดสร้างอาคาร และเตรียมอัตราบรรจุผู้ทำงานเพิ่มเติม จัดหา
ครุภัณฑ ์และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการขยายงาน ซึ่งใน ขณะที่อยู่ในระหว่าง การปรับปรุงขยายงานนี้นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ทั้งองค์กร ต้อง ปฏิบัติงาน เดิมให้เป็นไปโดย ราบรื่น ขณะเดียวกัน ก็ต้องแบ่งกำลัง กัน มา ดำเนินการ
ขยายกิจการ เวลาดังกล่าวนี้ นับว่าเป็น ช่วงเวลา ที่ยากลำบาก ที่บริษัทจะต้อง
รีบ ให้ผ่านพ้นไปโดยเร็วที่สุด และต้องกำหนดยุทธศาสตร์ไว้รองรับ การแก้
ปัญหาต่าง ๆ เพื่อป้องกันการ เสียโอกาส ทางธุรกิจ ในกรณีที่มี ชิ้นงาน ขนาดใหญ่เข้ามาในช่วงเวลานี้สถานการณ์จึงเปรียบเสมือนการเดินทัพผ่าน
ภูมิประเทศที่ปิดล้อมที่ต้องใช้เวลา ให้น้อยที่สุด และต้อง กำหนด ยุทธศาสตร์
ไว้แก้ปัญหาที่ อาจเกิดขึ้นให้ลุล่วง ไป พื้นที่มรณะต้องสู้สุดกำลัง พื้นที่ มรณะ
คือ พื้นที่ซึ่งแม้จะสู้หรือไม่สู้ก็ต้อง มีการ สูญเสีย บาดเจ็บล้มตาย อย่างกรณี กองทัพอังกฤษสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ถูกกอง ทัพเยอรมนี ตีร่นถอยไป จน ตกทะเล ที่ดันเคิร์ก อันเป็นพื้นที่มรณะที่กองทัพ อังกฤษ จำต้องหัน หน้า มา ปักหลัก สู้จนสุดกำลัง เพราะหนีไปไหนไม่ได้อีกแล้ว การหัน กลับมา ต่อสู้นี้
ี้ถึงแม้จะไม่ได้รับชัยชนะ แต่ก็ทำให้ การสูญเสียน้อยลงกว่าที่จะเป็น และยัง เป็นการแพ้อย่างมีเกียรติ เปรียบเทียบ กับการ ทำงานแล้ว ก็เหมือน กับงาน ที่ประเมินแล้ว ไม่อาจบรรลุถึงเป้าหมาย ของงาน ที่ได้กำหนด ไว้ได้ ้ การทอดหุ่ย ปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรมนั้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น อาจ
มีความเสียหาย มากกว่าที่ควรจะเป็น หัวหน้างาน จึงควรควบคุม ดูแล ให้มี
การทำงาน นั้น อย่าง สุดกำลัง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานน้อยที่สุด เท่าที่จะเป็น ไปได้ อีกทั้งยังได้ชื่อว่า เป็นมืออาชีพผู้ไม่ละทิ้งหน้าที่ แม้จะ อยู่
ใน สภาวะลำเค็ญเพียงใดพึงหลีกเลี่ยงเส้นทางบางสาย"เส้นทางบางสายที่พึง
หลีกเลี่ยงขณะ เดินทัพ นั้น คือ เส้นทางที่อาจนำไปสู่ภัยพิบัติของฝ่ายเรา เป็น เส้นทาง ที่คาดหมาย ได้ว่า อาจ ถูกซุ่มโจมตีจากฝ่าย ข้าศึก เส้นทางเหล่านี้
มักเป็น เส้นทางที่สะดวกง่ายดายต่อการเดินทัพ และยวนใจ ต่อการ
ใช้ประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจาก ให้ความ สะดวก และรวดเร็ว ในการ เคลื่อน
กำลังพล แต่ ใน ขณะเดียวกันก็แฝงไว้ซึ่ง อั